นางสาวกัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุ ถึง แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยปี 2566 ว่า คาดการณ์ปีหน้า การก่อสร้าง ที่ครอบคลุมการดำเนินการของภาครัฐ และ เอกชน จะมีมูลค่าการเติบโตแตะ ที่ 1.48 ล้านล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2565
ทั้งนี้ ประเมินว่า การก่อสร้างในหมวดของภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวราว 5% หรือ มูลค่า แตะ 8.75 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเติบโต จากการเดินหน้าเร่งสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆจำนวนมากทั่วประเทศ รวมถึง การประมูลโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย ช่วง นครราชสีมา - หนองคาย ,โครงการทางด่วนพิเศษ สายกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต ,โครงการ การขยาย -ปรับปรุง สนามบินดอนเมือง และ สุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว
ขณะการก่อสร้างโครงการภาครัฐ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากกรอบการลงทุนที่ขยายตัวราว 6% หรือ 2.7 หมื่นล้านบาท สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวอย่างดี
สำหรับการก่อสร้างในหมวดของภาคเอกชน EIC คาดว่า ในปี 2566 มูลค่าภาพรวมจะเติบโตที่ 4% ขยายตัวแตะระดับ 6.03 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ มาจากแนวโน้มการขยายตัวของการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมาจากปัจจัยเร่ง อย่างการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ทั้งอาคารสำนักงาน และ พื้นที่ค้าปลีก เพื่อรองรับการฟื้นตัวของกำลังซื้อชาวไทยและชาวต่างชาติ
'จากมูลค่าการก่อสร้าง มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีหน้านั้น นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ รับงานทั้งงานก่อสร้างของภาครัฐ เช่น โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ และ งานภาคเอกชน ทั้งโครงการบ้าน ,คอนโดมิเนียม และ โครงการเชิงพาณิชยกรรมต่างๆ '
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก อย่าง เอสเอ็มอี ก็มีโอกาสจากแนวโน้มดังกล่าว ในฐานะเป็นผู้รับเหมาต่อช่วงจากรายใหญ่ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ EIC ระบุว่า แม้ปี 2566 ภาคก่อสร้างจะมีโอกาสรออยู่ แต่ก็มีอุปสรรค ความท้าทายเช่นกัน โดยเฉพาะ จากต้นทุนการก่อสร้าง เช่น ต้นทุนแรงงาน และ ต้นทุนจากวัสดุก่อสร้าง หลังจาก ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ทำให้ที่ผ่านมา ผู้รับเหมาก่อสร้าง มีการพึ่งพาแรงงานในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับ 1 ต.ค. มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการเผชิญกับ ต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ยังมีแนวโน้มราคาปรับขึ้น ซึ่งต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 พบ แม้ราคาเหล็กปรับตัวลง แต่ราคาซีเมนต์ และ วัสดุอื่นๆ ยังคงมีราคาแพงสูงขึ้น ทำให้เป็นแรงกดดันแบกรับต้นทุนเพิ่มเติม
'มีคำถาม ว่า ในปีหน้า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จะไปทางไหน ต้องปรับตัวอย่างไร EIC มองว่า ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนเป็นหลัก ควรทำสัญญาสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้าอย่างสอดคล้องกับความต้องการใช้ เป็นหนึ่งในทางออก'
EIC ยังแนะว่า ในแนวทางการเพิ่มรายได้ของภาคก่อสร้างปี 2566 นั้น ผู้ประกอบการอาจต้องหลีกเลี่ยงกลยุทธ์ การเข้าประมูลแบบแข่งขันด้านราคา ควบคู่กับการทำความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าประมูลงานได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น