ครม.ไฟเขียวเวนคืนที่ดินแขวงบางบอนใต้ ขยายถนน 4 เลน 

31 ม.ค. 2566 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 08:43 น.

ครม.อนุมัติเวนคืนที่ดินแขวงบางบอนใต้ กทม. ขยายถนน 4 เลน สายซอยเอกชัย 101 เพิ่มความคล่องตัวการจราจรฝั่งธนบุรีใต้ หนุน กทม. เป็น "มหานครสีเขียว"

31 มกราคม 2566 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ที่ประชุม ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....

สำหรับการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรแก่ประชาชนในพื้นที่บริเวณฝั่งธนบุรีใต้ และการเดินทางเข้า - ออก สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 

ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำาหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 มีกำหนดใช้บังคับ 3 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ 

โครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครเป็น "มหานครสีเขียว" ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน ระหว่างซอยเอกชัย 101 กับถนนพระรามที่ 2 ซอย 82 ริมคลองบางบอน มีพื้นที่ขนาด 100 ไร่

จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณปากซอยเอกชัย 101 ระยะทางยาวประมาณ 470 เมตร โดยจะดำเนินการขยายเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเขตทาง กว้าง 20 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร (จากเดิมที่เป็นถนนลาดยาง กว้างประมาณ 5 เมตร ขนาด 2 ช่องทางจราจร 2 ทิศทาง) พร้อมท่อระบายน้ำ บ่อพัก ทางเท้าทั้งสองฝั่ง ไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายเครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ

โครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 (มติ ครม.31 มกราคม 2566)

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงสะพานข้ามคลองบางบอนซึ่งอยู่ติดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ โดยปรับปรุงเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กกว้างประมาณ 16 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 75 เมตร เพื่อให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ข้ามคลองไปสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ ได้สะดวกยิ่งขึ้นและเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการ

นางสาวรัชดา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครมีแผนการจัดการกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน โดยประมาณการจัดการค่ากรรมสิทธิ์จำนวน 14.28 ล้านบาทซึ่งจะใช้จ่ายจากงบประมาณของกรุงเทพมหานคร