TOP 5 อสังหาฯไทยเขย่าทำเลชานเมือง ดัน ราคาที่ดิน เพิ่มขึ้น13%

08 พ.ค. 2566 | 07:01 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2566 | 07:09 น.

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเผย TOP 5 อสังหาฯไทย แห่พลิกโฉม แปลง "ที่ดิน" ทำเลชานเมือง ดัน ดัชนีราคาเพิ่ม 13.1% พบ อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางบัวทอง ร้อนแรงอีกครั้ง จากที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงหวนเปลี่ยนมือ

8 พฤษภาคม 2566 -  ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 385.7 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1  เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565  (QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ซึ่งแม้เป็น ภาพรวมดัชนีราคาที่ดินยังคงปรับขึ้นแต่อยู่ในอัตราที่ชะลอตัว จากสาเหตุ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2566 ยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายภาคธุรกิจลงทุนในแบบชะลอตัว ขณะความต้องการซื้อที่ดินในตลาดชะลอตัวลงไปด้วย 

อย่างไรก็ดี ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า พบข้อมูลที่มีนัยะน่าสนใจ จากกลุ่มการซื้อ-ขายที่ดิน ในทำเลจังหวัดปริมณฑล จนส่งผลให้ ดัชนีราคาขยับปรับตัวสูงมากกว่า ที่ดินในโซนพื้นที่ชั้นใน โดยคาด มาจากปัจจัย ที่ผู้เล่นในตลาดอสังริมทรัพย์ บริษัท TOP 5 แห่เข้าไปปักหมุดพัฒนาโครงการแถบชานเมือง และสาเหตุสำคัญเกิดจากการซื้อขายที่มีราคาเพิ่มขึ้นจากฐานราคาที่ต่ำ 

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2566 โซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 มีดังนี้ 

5 อันดับทำเล ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด

  • อันดับ 1 ได้แก่ ที่ดินในโซนจังหวัดนครปฐม มีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึงร้อยละ 68.2
  • อันดับ 2 ได้แก่ ที่ดินในโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 52.4  เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
  • อันดับ 3 ได้แก่ ที่ดินในโซนจังหวัดสมุทรสาคร มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 39.1
  • อันดับ 4 ได้แก่ ที่ดินในโซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ  28.7 
  • อันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินในโซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 
     

“จากภาวะราคาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ที่ดินที่อยู่บริเวณชานเมืองของกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล มีฐานราคาซื้อขายที่ต่ำกว่าที่ดินในเขตชั้นในของเมือง ซึ่งยังสามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบในระดับราคาที่สอดคล้องกับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันได้ จึงมีความต้องการที่ดินในบริเวณชานเมืองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาที่ดินในจังหวัดปริมณฑลมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าในพื้นที่ชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ ที่มีฐานราคาที่สูงอยู่แล้ว จึงทำให้มีอัตราการเปลี่ยนแปลงไม่สูงดังเช่นในพื้นที่ชานเมือง และไม่ติดอันดับโซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก”

TOP 5 อสังหาฯไทยเขย่าทำเลชานเมือง  ดัน ราคาที่ดิน เพิ่มขึ้น13%