นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายภาครัฐต่อการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์” ในงาน “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2024”ว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจที่ยังมีปัญหา โดยการปรับปรุงภาษีดังกล่าว จะพิจารณาทั้งในแง่ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและในเรื่องอัตราภาษีให้เกิดความเหมาะสม
"ภาษีที่ดิน จะต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประเด็นเชิงรายละเอียดทั้ง อัตรา ความเหมาะสม และครอบคลุม โดยจะศึกษาร่วมกับมหาดไทย ให้เป็นผลบวกต่อภาคเอกชน และประชาชนมากที่สุด เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน คิดว่าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของไทยยังอ่อนแอ ก็ไม่ควรเอาภาษีมาซ้ำเติมประชาชน" เลขานุการ รมว.คลัง ระบุ
ขณะที่ภาคอสังหาฯ เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เพื่อช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ธปท.ไม่ควรมองการผ่อนเกณฑ์ LTV ว่าจะทำให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น แต่ควรมองในแง่บวกด้วยว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ขอให้สถาบันการเงินผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยสถาบันการเงินต้องเปิดรับความเสี่ยงให้มากขึ้น และต้องหาจุดสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับเสถียรภาพ
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนทุกคนให้มากที่สุด กระทรวงการคลังตระหนักถึงความสำคัญของตลาดอสังหาริมทรัพย์
โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมาตรการด้านภาษี และมาตรการเงินที่สำคัญในปี 2567 ดังนี้
มาตรการด้านภาษี (5 มาตรการ)
1. “ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืม” สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระของผู้มีเงินได้
2. “การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ร้อยละ 90 ของภาษีที่ต้องเสียให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ไม่เกิน 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการระหว่างการก่อสร้าง
3. “การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” สำหรับทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
4. “การขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในปี 2567 เป็นการทั่วไปออกไปอีก 2 เดือน
5. “มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย” ลดค่าจดทะเบียนการโอนจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 ที่จดทะเบียนในปี 2567
มาตรการทางการเงิน (2 มาตรการ)
1. “โครงการบ้านล้านหลัง” สนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูง โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน วงเงิน 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี
2. “โครงการสินเชื่อ Happy Life” สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง วงเงินกู้ต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.98 ต่อปี ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในปีแรกที่ร้อยละ 1.95 ต่อปี