กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ลิฟ-24 จำกัด ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาใหญ่ภายใต้หัวข้อ "LIV-24 Industrial Tech Revolution: ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ยุคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วย AI และ Industrial Tech"
โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและแสดงวิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก มีผู้นำจากภาคธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมกว่า 200 บริษัท
นางสาวนิรมล ดิเรกมหามงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิฟ-24 จำกัด หรือ LIV-24 (ลิฟ-ทเวนตี้โฟร์) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานในหลากหลายกลุ่ม ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีของประเทศ
และได้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของ AI ในฐานะเครื่องมือที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลก
“AI ไม่ใช่สิ่งที่ต้องรับมือ แต่เป็นเครื่องมือที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลก”
ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
ตั้งแต่ต้นน้ำ ในด้านการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ และการจัดหาวัตถุดิบ กลางน้ำ ในกระบวนการการผลิต และการจัดการของเสีย จนถึงปลายน้ำ ในด้านการขนส่ง กระจายสินค้า และบริการหลังการขาย
เพื่อให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น รับมือต่อความเสี่ยงและปัจจัยภายนอก สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
ทั้งนี้ LIV-24 เป็นผู้เชี่ยวชาญการออกแบบโซลูชันที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ทุกรูปแบบ ทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี ไปจนถึงอุตสากรรมขนาดใหญ่
โดยได้ดูแลครอบคลุมหลายธุรกิจกว่า 130 โครงการ จัดการปัญหากว่า 500,000 เคส และมีเคสอันตรายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินเป็น 0 เคส นับเป็นโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมรายแรกของประเทศไทยที่นำ INDUSTRIAL TECHNOLOGY ผสานเข้ากับ AI และประสบการณ์ของมนุษย์
LIV-24 ได้นำเสนอโซลูชันครอบคลุมหลายด้าน เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย กล้องอัจฉริยะตรวจจับความผิดปกติ การดูแลระบบเครื่องจักร ระบบขนส่ง การจัดการน้ำเสีย และการจัดการพลังงาน โดยมีการเชื่อมต่อเข้าสู่ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Command Centre) ที่สามารถดูแลแบบ Real-Time ตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน
เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก รวมถึงลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชุมชน ซึ่งส่งผลให้ลดต้นทุนรวมของธุรกิจได้มากถึง 20%
ปัจจุบัน LIV-24 มีกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม มิกซ์ยูสโครงการอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มอาคารสำนักงาน มีมูลค่าทรัพย์สินที่ดูแลรวมทั้งสิ้นกว่า 300,000 ล้านบาท โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ภายในปี 2568 อยู่ที่ 300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนลูกค้ากลุ่มคอมเมอร์เชียลและโรงงานอุตสาหกรรม 35% และกลุ่มที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน 65%
รศ. วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนของภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปีนี้ กนอ. ได้กำหนดแผนฟื้นฟูการลงทุน
โดยเปลี่ยนบทบาทจากหน่วยงานกำกับดูแล (regulator) มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ที่มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ กนอ. ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการนำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งเน้นจัดการกากของเสียให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นว่าภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังคงเป็น อีกหนึ่ง sector ที่แข็งแกร่ง แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ และ LIV-24 จะเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นที่สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี AI อัจฉริยะ และเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันสมาร์ทนิคม พร้อมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เทียบชั้นกับนานาชาติ
นางสาวนิรมล ยังกล่าวเสริมว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย ห่วงโซ่การผลิต เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง ความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เงินทุน และความพร้อมด้านวัตถุดิบ
LIV-24 จะเป็นอีกหนึ่ง key driver สำคัญในการสร้างโซลูชันที่สมบูรณ์แบบ โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่มนุษย์จะเข้ามาช่วยในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
การร่วมมือครั้งนี้ระหว่างภาครัฐและเอกชนถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่มาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ และผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและนวัตกรรมในภูมิภาคต่อไป