เปิดความคืบหน้า รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน 14 ปี 3 รัฐบาล

29 ส.ค. 2567 | 10:21 น.
อัพเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2567 | 10:34 น.

เปิดความคืบหน้า รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน วางแผนเริ่มศึกษาจนถึงปัจจุบัน 14 ปี 3 รัฐบาล กำหนดการเดิม แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2570 คิดว่าทันหรือไม่? เปิดความคืบหน้า 14 สัญญา บางจุดยังไม่ถึง 1%

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นเส้นทางเชื่อมโยงประเทศไทยกับหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย และในระดับโลก และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้มีการลงนามความร่วมมือในช่วงปี 2557 เริ่มโครงการด้วยการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงจากไทยไป สปป.ลาว และนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนได้อย่างไร้รอยต่อ และในอนาคตสามารถพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปยังประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ได้อีกด้วย

สำหรับการก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้นหลังทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมลงนามรับรองบันทึกการประชุมในการตกลงเริ่มก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงนี้ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยแบ่งเป็นระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างในวันที่ 21 ธ.ค. 2560 และระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ค่อยก่อสร้างในลำดับถัดไป

 

รูปแบบการลงทุนและสัญญา

  • ไทยลงทุนก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา (กำลังก่อสร้าง 10 สัญญา)
  • งานระบบรางและระบบรถไฟ (ใช้ของจีน) (ระหว่างออกแบบ) 1 สัญญา
  • งบประมาณ 179,412.21 ล้านบาท 
  • คาดเปิดให้บริการปี 2570
     

โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นเพียง 1 ใน 4 เส้นทางรถไฟความเร็วสูงของไทยที่มีแผนจะพัฒนา หากดูจากรูปที่ 1 จะพบว่า โครงข่ายรถไฟความเร็วสูง มีการก่อสร้างกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแผนที่ศึกษามาตั้งแต่ ปี 2553 ยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งผ่านมาถึงปี 2556 สมัย ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมาเริ่มลงนามก่อสร้างได้ในช่วง ปี 2557-2560 ยุครัฐบาล คสช.

เปิดความคืบหน้า รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน 14 ปี 3 รัฐบาล

ความคืบหน้าการก่อสร้าง 14 สัญญา

  • สัญญาที่ 1-1 งานก่อสร้างคันทางระดับดิน ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (2.2 ไมล์) งบประมาณ 425 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างกรมทางหลวง ความคืบหน้าของโครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว
  • สัญญาที่ 2-1 งานก่อสร้างคันทางระดับดิน ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) งบประมาณ 3,115 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริง ความคืบหน้าของโครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว
  • สัญญาที่ 3-1 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงแก่งคอย - กลางดง และ ปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร (18.77 ไมล์) งบประมาณ 9,330 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ITD-CREC No.10JV (ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตร ซีอาร์อีซี (CREC: China railway Engineering corporation) ความคืบหน้าของโครงการ ร้อยละ 0.52
  • สัญญาที่ 3-2 งานก่อสร้างอุโมงค์ลอดภูเขา ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (7.60 ไมล์) ลบประมาณ 4,729.3 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 74.06
  • สัญญาที่ 3-3 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กิโลเมตร (16.22 ไมล์) รวมงานก่อสร้างสถานีปากช่อง งบประมาณ 9,838 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บจ.กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 52.73
  • สัญญาที่ 3-4 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร (23.27 ไมล์) งบประมาณ 9,788 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 77.82
  • สัญญาที่ 3-5 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.69 กิโลเมตร (8.51 ไมล์) รวมงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา งบประมาณ 7,750 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด (ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย) ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 9.41
  • สัญญาที่ 4-1 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ (กม.11)-ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะทาง 11.83 กิโลเมตร (7.35 ไมล์) รวมงานปรับปรุงและเชื่อมต่อสถานีท่าอากาศยานดอนเมือง รวมงานโยธาให้ผู้ชนะการประมูลสายเชื่อม 3 สนามบิน (บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ดำเนินการ
  • สัญญาที่ 4-2 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร (13.55 ไมล์) งบประมาณ 10,570 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 0.66
  • สัญญาที่ 4-3 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (14 ไมล์) งบประมาณ 11,525 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง กิจการร่วมค้าซีเอส-เอ็นดับบลิวอาร์-เอเอส (บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชัน, บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ, บจ. เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1994)) ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 37.50
  • สัญญาที่ 4-4 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย งบประมาณ 6,514.4 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 16.57
  • สัญญาที่ 4-5 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร (8.26 ไมล์) รวมงานก่อสร้างสถานีอยุธยา งบประมาณ 9,913 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ อยู่ระหว่างกระบวนการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก
  • สัญญาที่ 4-6 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กิโลเมตร (19.6 ไมล์) งบประมาณ 9,429 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 5.23
  • สัญญาที่ 4-7 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงสระบุรี - แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร (8.07 ไมล์) รวมงานก่อสร้างสถานีสระบุรี และปรับปรุงสถานีรถไฟแก่งคอย งบประมาณ 8,560 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บจ. ซีวิลเอ็นจิเนียริง ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 56.67

สัญญา 3-2 งานอุโมงค์ มวกเหล็กและลำตะคอง

เป็นช่วงสัญญาที่เกิดอุบัติเหตุอุโมงค์ถล่มทับแรงงานจีน 2 คนและเมียนมาอีก 1 คน เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยเป็นโครงการก่อสร้างที่มีระยะทางรวม 12 กิโลเมตร แบบอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ รถไฟสามารถวิ่งสวนไปมาได้ อุโมงค์มีความสูง 11.82 เมตร ความกว้าง 13.04 เมตร ดำเนินการโดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) (NWR) ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จร้อยละ 74.06% (ข้อมูล ณ 25 ก.ค.2567) ประกอบด้วย

  • ทางยกระดับ ระยะทางรวม 1 กิโลเมตร
  • คันทางระดับดิน ระยะทางรวม 3 กิโลเมตร
  • งานอุโมงค์ ระยะทางรวม 8 กิโลเมตร

งานอุโมงค์ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่

  • อุโมงค์ผาเสร็จ ความยาว 274 เมตร
  • อุโมงค์มวกเหล็ก ความยาว 3,400 เมตร
  • อุโมงค์หินลับ ความยาว 162 เมตร
  • อุโมงค์คลองไผ่ ความยาว 4,100 เมตร