ในปัจจุบัน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำทั่วประเทศต่างปรับตัวเข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทั้งปัจจัยจากแรงกดดันของกติกาโลกที่เปลี่ยนไปและการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่หันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น
หลายบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้เริ่มนำนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ เช่น พลังงานทดแทน ระบบการจัดการน้ำที่หมุนเวียนได้
รวมถึงการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นต์ต่ำ และการออกแบบที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาวะของผู้อยู่อาศัย
หนึ่งในโครงการที่กำลังจะเปิดตัวในระยะเวลาอันใกล้และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือโครงการ “วัน แบงค็อก” โครงการมิกซ์ยูสที่ถูกพัฒนาให้เป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะใจกลางกรุงเทพฯ อีกทั้งยังคำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาว
นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันไม่ได้หมายถึงแค่การออกแบบอาคาร แต่เป็นการออกแบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งจะส่งผลและเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต
โดยเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโครงการของบริษัทจะมุ่งเน้นพัฒนามิกซ์ยูสให้มีแนวคิดที่สอดคล้องกับเมือง
และผสมผสานการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์หลายรูปแบบในพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยจัดการความเสี่ยง เพื่อให้เมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ
ด้วยการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นศูนย์กลาง (People Centric) ทำให้วัน แบงค็อกเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการ ซึ่งมีการนำแนวคิดการออกแบบที่ผสมผสานในการพัฒนาของชุมชน
รวมถึงนำการวางผังเมืองมาปรับใช้ในโครงการ ทำให้ได้แสดงถึงศักยภาพของโครงการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือธุรกิจสีเขียว
อีกทั้ง มีการออกแบบที่เชื่อมโยงระหว่างโรงแรม อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก และสาธารณูปโภคของรัฐภายในระยะเวลา 15 นาที เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ที่สะดวกสบายและตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัย
ซึ่งการเพิ่มพื้นที่สันทนาการและการเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้งานในโครการ สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดการผสมผสานการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างผู้คนได้ถึง 40-60% ทั้งในอาคารสำนักงาน การพักอาศัยในโรงแรม หรือการใช้ชีวิตในพื้นที่อื่นๆ
นอกจากนี้ การเชื่อมโยงเหล่านี้ยังช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างจินตนาการที่ดีขึ้น และช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับเมือง
โดยการออกแบบทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยและสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของสภาพแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าทางอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน
ด้านนายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ วัน แบงค็อก กล่าวถึงการลดคาร์บอนในโครงการว่า มีแนวคิดลดคาร์บอนตั้งแต่พื้นฐานการก่อสร้าง
โดยใช้คอนกรีตมิกซ์ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 40% และสามารถรีไซเคิลคอนกรีตที่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับมาเป็นส่วนประกอบของพรีแคสต์ที่ใช้ในการก่อสร้างได้
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่ขยะจากการก่อสร้าง ไปจนถึงขยะอาหารจากแรงงานในระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงใช้รถโม่อีวี (Electric Vehicle) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดคาร์บอน
ทั้งนี้ในอนาคตเราวางแผนที่จะมีสัญญาเช่าพื้นที่อาคารในรูปแบบ Green Lease กับผู้เช่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งตอนนี้เริ่มใช้กับผู้เช่ารายแรกในโครงการแล้ว
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของอาคารอัจฉริยะนี้ (Smart Building Infrastructure) ทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การบริหารจัดการอาคารมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
แต่อีกหนึ่งสำคัญคือ 'Peopleware' หมายถึงผู้คน เพราะแม้จะมีอาคารที่ดี มีประสิทธิภาพ พร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่หากไม่เลือกใช้ฟีเจอร์ เหล่านั้น ก็จะไม่เกิดผล ดังนั้น จึงอยากสนับสนุนให้เกิดแนวคิดที่พร้อมาสำหรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
อีกหนึ่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม คือ"กลุ่มบริษัทพราว" ที่พัฒนาทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ อย่างโรงแรม สวนน้ำ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย
นายพสุ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงแรมมีพนักงานประมาณ 2,000 คน และมีอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เปิดทำการและกำลังจะเปิดทั้งหมดประมาณ 10 แห่ง ซึ่งคาดว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเกือบ 2 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่สูงพอสมควร
ในด้านการพัฒนาความยั่งยืน บริษัทได้ยึดตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น (UN SDGs) โดยมุ่งเน้นที่การสร้างเมืองที่ยั่งยืน (Sustainable City) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ติดกับทะเล เช่น ประจวบคีรีขันธ์และภูเก็ต นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับการศึกษาในท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับอนาคต
ในเรื่องของแนวโน้มการใช้น้ำและพลังงาน บริษัทกำลังพัฒนาให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อ GDP ของประเทศ
นายพสุ ได้ยกตัวอย่างโครงการของบริษัทที่เกี่ยวกับความยั่งยืนว่า ได้มีการริเริ่มโครงการ Project Pineapple ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อความยั่งยืน เป็นพืชที่สามารถเติบโตได้ทุกที่ และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของพราวกรุ๊ป โดยเชื่อว่าธุรกิจขนาดใหญ่หรือ SME ก็สามารถมีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อความยั่งยืนได้
ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนในด้านการจัดการขยะและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น การนำขยะอินทรีย์จากร้านอาหารในโรงแรมมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ย ซึ่งมีการลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี
โดยปุ๋ยนี้จะนำกลับไปสู่เกษตรกรในชุมชน เพื่อผลิตวัตถุดิบส่งกลับมาให้กับร้านอาหาร เพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมการเกษตร และเชื่อว่าจะสามารถส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้
แนวคิดเหล่านี้ สะท้อนถึงการที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังมุ่งมั่นเดินหน้าเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการพัฒนาโครงการในอนาคต
ที่นอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนแล้ว ยังเป็นสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะส่วนร่วมในการสร้างโลกที่ยั่งยืนในอนาคต