ยักษ์รับเหมาคึก ทล. ลุย PPP มอเตอร์เวย์ M9 บางขุนเทียน – บางบัวทอง  ภายในปี 2568

04 ธ.ค. 2567 | 04:41 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 04:55 น.

จับตายักษ์รับเหมาคึก ! กรมทางหลวงพร้อมเดินหน้ามอเตอร์เวย์ M9 ทางยกระดับบางขุนเทียน – บางบัวทอง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ธ.ค. 2567 เตรียมออกประมูลเอกชนร่วมลงทุน PPP ภายในปี 2568

 

 

 

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน –บางบัวทอง โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบ พร้อมการดำเนินงาน และบำรุงรักษาตลอดทั้งสายทาง เมื่อวันที่3ธันวาคม2567

ให้ก่อสร้าง โครงการก่อสร้าง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ยกระดับทางด่วน M9 บางขุนเทียน บางบัวทอง  วงเงิร 4.7 หมื่นล้านบาท  คาดว่า จะเริ่มดำเนินการได่ในปี 2568 และแล้วเสร็จ  ภายในปี 2571 หากแล้วเสร็จจะ ช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจร  บนถนนวงแหวนรอบนอก  ได้เป็นอย่างดี  และประเมินว่าจะมี บริษัทรับเหมารายใหญ่ แถวหน้าของเมืองไทย และต่างชาติ แข่งขันชิงงานกันอย่างคึกคัก

มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน -บางบัวทอง

 

ล่าสุด นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคมเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติดำเนินการก่อสร้างโครงการนั้น

สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการในรูปแบบการให้สัมปทานเอกชน หรือ PPP Net Cost มีระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 34 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี และ ดำเนินการและบำรุงรักษา หรือ O&M 30 ปี)

มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน -บางบัวทอง

 

โดยมีวงเงินลงทุนโครงการฯ ประมาณ 56,035 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบคือค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,235 ล้านบาท และเงินลงทุนของภาคเอกชน จำนวน 51,782 ล้านบาท ประกอบด้วยการก่อสร้างงานโยธา งานระบบตลอดทั้งสายทาง โดยเอกชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ค่าผ่านทางของโครงการ

และเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้โดยตรง และจะได้รับเงินร่วมลงทุนจากภาครัฐตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีกรอบวงเงินร่วมลงทุนที่เป็นมูลค่าปัจจุบันไม่เกินมูลค่าก่อสร้างงานโยธา ซึ่งจะทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดให้บริการ มีกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 15 ปี (เป็นจำนวนเงินมูลค่าปัจจุบันรวมแล้วไม่เกิน 47,521.04 ล้านบาท) ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะได้พิจารณากำหนดวิธีการหรือกลไก

การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมหรือปรับลดการสนับสนุนเงินร่วมลงทุนในกรณีที่ปริมาณจราจรหรือรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางของโครงการ สูงกว่าที่ประมาณการไว้มาก

แนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บางบัวทอง

รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขตัวชี้วัดระดับคุณภาพการให้บริการ (KPI) เพื่อให้เอกชนคู่สัญญารักษาคุณภาพระดับการให้บริการที่ดีและปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้ทาง โดยกรมทางหลวงคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 2568 และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในปี 2569

สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน –บางบัวทอง มีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 35.85 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน

เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านทิศใต้ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว และโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง

เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ตลอดสายทางมีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow โดยมีอัตราค่าผ่านทางรถยนต์ 4 ล้อ มีค่าแรกเข้า 10 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทางประมาณ 1.5 บาทต่อกิโลเมตร มีทางขึ้น-ลง ในโครงการเพื่อเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมหลักตลอดแนวเส้นทางเป็นทางขึ้น 8 จุด และทางลง 6 จุด มีทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง รวมจุดเข้า-ออกเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ M81 บางใหญ่ - กาญจนบุรี บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่

 

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งผลให้การเดินทางเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้ากับพื้นที่ภูมิภาคโดยรอบ รวมถึงเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษ/ทางพิเศษให้สมบูรณ์ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ทำให้เกิดความคล่องตัว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้ทางเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 18,000 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวด้านการผลิต การขยายตัวด้านรายได้รวมของระบบเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน