วิศวกรโครงสร้างไทย ตั้ง5สมมุติฐาน ชิ้นส่วนโครงสร้างอาคารย่านพระราม4 ร่วง

15 ธ.ค. 2567 | 05:24 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2567 | 05:39 น.

สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ตั้ง5สมมุติฐานชิ้นส่วนโครงสร้างอาคารย่านพระราม4 ร่วง หลังตรวจสอบร่วมกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผลการตรวจสอบพบ ชิ้นส่วนที่หล่นลงมาเป็นชิ้นส่วนโครงสร้างอาคารที่กำลังรื้อถอน ไม่ใช่ เครนหัก

จากเหตุการณ์ชิ้นส่วนโครงสร้างหล่นใส่ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุ โดยมีนาย ชูเลิศ จิตเจือจุน และนายวัฒนพงศ์ หิรัญมาลย์ กรรมการสมาคม ร่วมกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผลการตรวจสอบพบว่า ชิ้นส่วนที่หล่นลงมาเป็นชิ้นส่วนโครงสร้างอาคารที่กำลังรื้อถอน ไม่ใช่ เครนหัก หรือ น้ำหนักถ่วงเครนร่วงตามที่เข้าใจตอนแรก

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ

สำหรับชิ้นส่วนโครงสร้างที่ร่วงลงมา เป็นส่วนของเสาและคานขนาดใหญ่ ที่มีการตัดและยกโดยใช้เครน ปรากฎว่าสลิงของเครนเกิดการรูดขณะยก ทำให้ชิ้นส่วนดังกล่าว หลุดตกกระแทกพื้นชั้น 4 ก่อนแล้วค่อยตกลงมาบนถนนพระราม 4 ดังที่ปรากฎ

ศ.ดร.อมร เผยต่อว่า กำลังวิเคราะห์สาเหตุที่สลิงหลุดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยในขั้นต้นได้ ตั้งสมมุติฐานไว้ 5 ประเด็นคือ

1. การปฏิบัติ เป็นไปขั้นตอนการทำงาน (Method statement) หรือไม่

2. ระบบควบคุม ระบบเบรกสำรอง ของเครนทำงานถูกต้องหรือไม่ มีการดูแลรักษาอย่างไร

3. น้ำหนักของชิ้นส่วนที่ใช้ยกเกินกำลังที่เครนจะยกได้หรือไม่

4. องศาการยกของเครน ระยะปลายแขนยกของเครน เป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่

5. สลิงยกน้ำหนัก สมบูรณ์หรือไม่

อาคารย่านพระราม4

ทั้งนี่เป็นเพียงข้อสังเกตข้างต้น สาเหตุที่แท้จริงอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ทั้งนี้ในอนาคต จะต้องกำหนดให้มีมาตรการกันร่วงของชิ้นส่วน เช่น การใช้สลิงสำรองยึดกับโครงสร้างด้านใน กันเหตุฉุกเฉินหากสลิงของเครนหลักเกิดหลุด อย่างน้อยมีสลิงสำรองกันร่วง หรือการแบ่งย่อยชิ้นส่วนให้เล็กลง เพื่อไม่ให้ยกน้ำหนักมากเกินไป และต้องตรวจสอบเครนที่ใช้ รวมทั้งระบบเบรก ว่าทำงานได้ปกติหรือไม่ โดยให้ผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนทางวิศวกรรมเพื่อป้องกันเหตุในอนาคต

 

ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยลงพื้นที่เกิดเหตุ