ภูเก็ตยังตอกย้ำสถานะ “ไข่มุกแห่งอันดามัน” ที่นอกจากโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยว แล้วยังเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ด้วยแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงกำลังซื้อจากชาวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าสู่เกาะอย่างไม่ขาดสาย ส่งผลให้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตกลับมาโดดเด่นอย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเต็มรูปแบบ
นายสมาวิษฎ์ สุพรรณไพ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเกาะภูเก็ตเมื่อสิ้นปี 2567 คาดว่าสูงถึง 14 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 450,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด และสามารถทำรายได้มากกว่าจังหวัดชลบุรีที่เมื่อเทียบกันแล้วมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่า
ซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่มีอยู่มาก ทำให้แม้ว่าภูเก็ตมีพื้นที่จำกัด แต่ดีมานด์ในตลาดอสังหาฯ ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านพักตากอากาศพุ่งสูงจนกลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการลงทุน ดังนั้นนั้นพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตยังมีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของแผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ระบุว่า อุปทานใหม่ในตลาดคอนโดมิเนียมของภูเก็ตในปี 2567 มีจำนวนมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ถึง 9,298 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 45,840 ล้านบาท
ขณะที่ในไตรมาสสุดท้าย คาดว่าจะมีโครงการเปิดตัวเพิ่มอีก 2,500 ยูนิต ด้วยมูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ส่งผลให้ปีนี้อาจจบด้วยยอดอุปทานใหม่สูงถึง 12,000 ยูนิต และมูลค่ารวมกว่า 63,000 ล้านบาท
ทำเลที่ยังคงเป็นที่นิยมของผู้พัฒนา ได้แก่ บางเทา เชิงทะเล กะตะ และพื้นที่ใจกลางเมืองภูเก็ต โดยกลุ่มผู้ซื้อหลักยังคงเป็นนักลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาวรัสเซีย และผู้พัฒนารายใหญ่จากกรุงเทพฯ เช่น บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, บมจ. แสนสิริ, บมจ. ศุภาลัย และ บจ. โบทานิก้า ลักซูรี่ ภูเก็ต ต่างเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่อย่างคึกคัก
ตลาดบ้านพักตากอากาศในภูเก็ตยังคงเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้สูงทั้งในและต่างประเทศ โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีอุปทานบ้านพักตากอากาศเปิดขายถึง 1,510 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 68,530 ล้านบาท โดยทำเลยอดนิยมยังคงเป็นบริเวณชายฝั่งตะวันตก เช่น เชิงทะเล บางเทา หาดสุรินทร์ หาดลายัน และหาดราไวย์
ในสิ้นปี 67 คาดว่าจะมีบ้านพักตากอากาศเปิดขายใหม่รวม 1,850 ยูนิต ด้วยมูลค่ารวมกว่า 75,000 ล้านบาท และแนวโน้มในอนาคต ผู้พัฒนานิยมขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ที่อยู่ห่างจากชายหาด เพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนราคาที่ดินริมทะเลที่สูงมากขึ้น
นายอรรถสิทธิ์ อินทรชูติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โบทานิก้า ลักซูรี่ ภูเก็ต จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ ได้เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยทำเลยอดนิยมได้แก่ บางเทา เชิงทะเล และป่าตอง ซึ่งอาจมีราคาที่ดินราว 30 ล้านบาทต่อไร่ หรืออาจพุ่งสูงขึ้นแตะ 300 ล้านบาทต่อไร่ในบางทำเล
และมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากกรุงเทพฯ เข้ามาพัฒนาโครงการในภูเก็ตมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าข้อดีในส่วนนี้คือการลูกค้าจากกรุงเทพฯ ตามมาเพิ่มมากขึ้น
แต่ในฐานะของผู้ประกอบการท้องถิ่นยังมองว่า ตลาดภูเก็ตยังมีความเฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้ประกอบการท้องถิ่นจะได้เปรียบในตลาดที่ต้องการความเชี่ยวชาญและการมองที่ลึกซึ้งในเรื่องของทำเลและผลิตภัณฑ์
ด้านตลาดเช่ามีผลตอบแทนการลงทุน (ROI) อยู่ที่ราว 7-9% และคอนโดสูงถึง 10% ซึ่งถือว่าค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดในกรุงเทพฯ อย่างอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาซื้อประมาณ 20-30 ล้านบาท ค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เดือนธันวาคม-มกราคม) ราคาค่าเช่าอาจสูงถึง 400,000-500,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ มองแนวโน้มของจังหวัดภูเก็ตว่า ยังมีโอกาส และศักยภาพการเติบโตได้อีกมาก หากมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น เช่น การแก้ไขปัญหารถติดและนํ้าท่วม ซึ่งจะช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุน
แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2568 อุปทานใหม่ในตลาดคอนโดมิเนียมอาจลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 ยูนิต เนื่องจากตลาดมีการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทำเลที่ได้รับความนิยม เช่น บางเทา เชิงทะเล และราไวย์ ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้พัฒนา
ในด้านตลาดบ้านพักตากอากาศ แนวโน้มยังคงสดใสด้วยดีมานด์ที่แข็งแกร่งจากกลุ่มผู้ซื้อรายได้สูง โดยเฉพาะชาวรัสเซีย คาดว่าจะมีผู้พัฒนารายใหม่เข้ามาลงทุนในภูเก็ตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างโอกาสใหม่ในตลาด
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทยระบุว่า ตลาดภูเก็ตหัวเมืองท่องเที่ยวของไทยเป็นจังหวัดเดียวที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากดีมานด์ต่างชาติ สวนทางเศรษฐกิจชะลอตัว ประเมินว่า ปีนี้ยังมีกระแสแรงแบบฮอตปรอทแตกต่อเนื่องอย่างน่าจับตา
จากความคึกคักในปี 2567 สู่แนวโน้มในปี 2568 แสดงให้เห็นว่าภูเก็ตจะยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งจากนักพัฒนารายใหญ่ในกรุงเทพฯ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมและบ้านพักตากอากาศ ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของจังหวัดในฐานะ “ทำเลทอง” ของประเทศที่ไม่เคยเสื่อมคลาย
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,059 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2568