ทางออกสร้างเชื่อมั่น จี้รัฐ ตรวจเข้ม อาคาร9 ประเภท -คอนโด -โครงสร้างพื้นฐาน หลังแผ่นดินไหว

29 มี.ค. 2568 | 10:03 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2568 | 10:15 น.

แผ่นดินไหวเขย่าตลาดคอนโดฯ สมาคมการขายและการตลาดอสังหาฯ เสนอภาครัฐ สร้างเชื่อมั่น ต้องเอาจริงตรวจสอบความแข็งแรง อาคาร9ประเภท -โครงสร้างพื้นฐานรัฐ ออกใบรับรอง ชี้ทำได้ทันทีเพราะมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว

 

 

กรณี แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ประเทศเมียนมา และมีผลกระทบมาถึงประเทศไทย สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง  โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ นักวิเคราะห์ประเมินว่า  อาจจะกระทบต่อตลาดคอนโดมิเนียม 460,000 ล้าน บาทนั้นทั้งนี้สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยนายปรีชา ศุภปิติพร นายกสมาคมฯและนายวสันต์ คงจันทร์ อุปนายกสมาคมฯ

วสันต์ คงจันทร์-ปรีชา ศุภปิติพร

 

ระบุว่า กรณีแผ่นดินไหวสร้างประเด็นต่อเนื่องต่อความเชื่อมั่นในการใช้อาคารของประชาชน และภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ สมาคมฯ จึงขอเสนอวิธีการสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนอย่างเร่งด่วน และทำได้ในทันที คือ

ต้องมีการการตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารและออกใบรับรอง เพื่อให้ความเชื่อมั่นผู้อาศัย หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ การซื้อขาย ธนาคารฯ ผู้รับจำนอง ผู้ซื้อ ผู้ขาย

 

โดย ทางออกสามารถแก้ปัญหาและทำได้ทันที ด้วยกฎหมายปัจจุบันที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้  คือ กฎกระทรวงประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบ พ.ศ. 2548 และที่เกี่ยวข้อง เช่น กำหนดคุณสมบัติผู้ตรวจสอบอาคาร ฯลฯ  ที่กำหนดให้มีการตรวจสอบอาคารทุกปี และทุก 5ปี โดยต้องตรวจสอบทั้งความแข็งแรงของโครงสร้าง ความวิบัติของอาคาร งานระบบต่าง ๆ ภายในอาคาร เป็นต้น

อาคาร 9 ประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ทำการตรวจสอบ
1. อาคารสูง ตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป
2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป
3. อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป หรือจำนวนคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
 

4. โรงมหรสพ
5. โรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
6. สถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตร.ม. ขึ้นไป
7. อาคารชุด หรืออาคารที่อยู่อาศัยรวม ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป
8. โรงงานที่สูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม. ขึ้นไป
9. ป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 ม.ขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้า ที่มีพื้นที่ 25 ตร.ม.ขึ้นไป

ทั้งนี้อาคาร 9 ประเภทข้างต้น เป็นภาคเอกชนหรือภาคประชาชนต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่เพียงพอก็ต้องประกาศเพิ่ม เช่น ถนน (ยุบ) สะพาน ทางด่วน อุโมงค์ รถไฟฟ้า สนามบิน (runway) ฯลฯ เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องรีบดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ  

 

ค่าบริการและระยะเวลาในการตรวจสอบ จากข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทผู้ตรวจสอบอาคารรายหนึ่ง ทราบว่ามีค่าบริการราคากลางแยกตามประเภทอาคาร ในช่วง 5,000-90,000 บาทขึ้นอยู่กับประเภทอาคารและพื้นที่ใช้สอย (ตารางเมตร) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน เช่น คอนโดฯอาคารสูง (300-500 ห้อง) อาจ 30,000 บาท เฉลี่ยห้องละ 1-200 บาท

 

ยังมีสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันเราก็มีการกฎหมายออกแบบอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว เช่น กฎกระทรวงแผนดินไหว  พ.ศ. 2564 กำหนด 3 บริเวณ ในแต่ละบริเวณ ระบุจังหวัดที่ต้องออกแบบและคํานวณ 43 จังหวัด ระบุ ประเภท และขนาดของอาคาร ที่ต้องออกแบบ ในแต่ละบริเวณ

 

“ประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ ต้องร่วมมือกัน ในการตรวจสอบ โดยอาจต้องมีค่าใช้จ่ายตามข้างต้น ...ต้องทำทันทีครับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศครับ ประเทศไทยเราเพิ่งได้รับเลือกเป็นเมืองน่าอยู่ในปี 2025 ลำดับ 10 ของโลก (The World’s Best Places to Retire 2025) ลำดับ 2 ของเอเชีย รางวัลนี้ได้มาไม่ใช่เพราะโชค เราต้องโชว์ว่า ไทยแลนด์ของจริง เราต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์ “