นายภคิน เอกอธิคม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หนึ่งในผู้ให้บริการวิศวกรรมอาคารครบวงจรใน ภายใต้แบรนด์ “ทัช พร็อพเพอร์ตี้” เปิดเผยถึงขั้นตอนตรวจสอบอาคารหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยยึดแนวทางตามคู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังแผ่นดินไหว ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคู่มือที่ใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
การตรวจสอบอาคารจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การสำรวจขั้นต้น และการสำรวจอย่างละเอียด โดยการสำรวจขั้นต้นจะดำเนินการทันทีหลังเกิดเหตุด้วยผู้ตรวจสอบอาคารที่มีความเข้าใจพื้นฐานด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง การสำรวจจะใช้วิธีตรวจด้วยตาเปล่า (Visual Check) เพื่อดูสภาพอาคารภายนอกและภายใน ทั้งในส่วนของโครงสร้าง เช่น พื้น เสา คาน หลังคา กำแพง ฝ้าเพดาน ตลอดจนวัสดุมุงหลังคา เพื่อประเมินระดับความเสียหายเบื้องต้น
นายภคิน ยังระบุว่า คู่มือฉบับดังกล่าวกำหนดให้แบ่งระดับความเสียหายออกเป็น 3 สี คือ สีเขียว แสดงว่าอาคารมีความเสียหายเล็กน้อยหรือไม่มีเลย สามารถใช้งานต่อได้ตามปกติ สีเหลือง หมายถึงอาคารมีความเสียหายปานกลาง แม้ยังใช้งานได้ แต่ต้องระวังเศษวัสดุร่วงหล่นและดำเนินการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน และสีแดง หมายถึงอาคารมีความเสียหายอย่างรุนแรง จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จำเป็นต้องห้ามใช้งานและเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
สำหรับการสำรวจอย่างละเอียด จะดำเนินการโดยวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ วิศวกรโยธา ซึ่งจะใช้เครื่องมือระดับสูงในการตรวจสอบสมรรถนะของอาคาร เช่น การวิเคราะห์โครงสร้างภายใน เพื่อประเมินว่ายังสามารถรับแรงสั่นสะเทือนหรือใช้งานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ ทั้งนี้ อาคารที่อยู่ในระดับสีแดง หรืออาคารขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก มักต้องเข้ารับการตรวจสอบในขั้นตอนนี้
ภายหลังการตรวจประเมินแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารจะต้องรายงานผลต่อหน่วยงานราชการในพื้นที่ภายใน 2 สัปดาห์ โดยแนบแนวทางปรับปรุง ซ่อมแซม หรือเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงตามหลักวิศวกรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าใช้อาคารได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยในระยะยาว
“ตอนนี้อาคารในไทยที่ได้รับการตรวจสอบเบื้องต้นส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับสีเขียวและสีเหลือง ซึ่งหมายถึงยังสามารถใช้งานได้ เพียงแต่อาจต้องมีการซ่อมแซมเพิ่มเติมในบางจุด โดยภาพรวมถือว่าอาคารในไทยสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ในระดับดี และกระบวนการตรวจสอบที่เป็นระบบนี้จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้อาคารได้อย่างแท้จริง” นายภคิน กล่าว
ทั้งนี้ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ยังเน้นย้ำว่า การมีระบบตรวจสอบที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยในระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะช่วงหลังเกิดภัยพิบัติเท่านั้น แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารอาคารอย่างยั่งยืนด้วย