เปิดขายซองเอกสารประกวดราคาไปแล้วสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งเป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ได้กำหนดให้อยู่ในโครงข่ายเพิ่มเติมที่มีกำหนดเปิดให้บริการในอีกไม่กี่ปีนี้
[caption id="attachment_76543" align="aligncenter" width="700"]
แผนที่รถไฟฟ้า สายสีเหลือง[/caption]
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ 1 - 4 หมื่นคน/ชั่วโมง/ทิศทาง เน้นการใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด มีระดับทางวิ่งสูง 15 เมตร ชานชาลากว้าง 20-25 เมตร ยาว 110 เมตร เพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินให้น้อยที่สุด
แต่ละสถานีก่อสร้างตามมาตรฐานความปลอดภัยโดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารดังนี้คือ ชั้นพื้นดินหลังแนวบาทวิถี มีทางขึ้น-ลง 4 แห่ง พร้อมติดตั้งลิฟต์ บันใดเลื่อน และทางลาดเชื่อมต่อลิฟต์สำหรับผู้พิการฝั่งถนนละ 1 ตัว ชั้นที่ 1 เป็นชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse) ลักษณะแบบเปิดโล่ง และสามารถใช้เป็นสะพานลอยคนข้าม ชั้นนี้ประกอบด้วยที่จำหน่ายบัตรโดยสาร เครื่องเก็บบัตรโดยสารอัตโนมัติและสิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการ ได้แก่ ลิฟต์ โทรศัพท์สาธารณะ ห้องน้ำ และที่จำหน่ายตั๋ว โดยบางสถานีสามารถใช้เชื่อมต่อไปยังอาคารข้างเคียง และอาคารจอดรถของโครงการ ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลา (Flatform) สำหรับจอดรถไฟฟ้ารับ-ส่งผู้โดยสาร มีประตูอัตโนมัติกั้นที่ชานชาลาสูงประมาณ 1.50 เมตร เพื่อป้องกันผู้โดยสารพลัดตกลงรางรถไฟฟ้า ปลายชานชาลาทั้ง 2 ด้านมีบันใดสำหรับผู้โดยสารขึ้น-ลง บันใดเลื่อน และบันใดสำหรับหนีภัยในกรณีฉุกเฉิน 2 แห่ง พร้อมลิฟต์ 2 ตัวสำหรับผู้พิการ
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) อาคารจอดรถเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าที่สถานีศรีเอี่ยม จำนวน 1 แห่ง อาคาร 10 ชั้น สามารถจอดรถได้ประมาณ 3,000 คัน มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ตัดกับถนนบางนา-ตราด มีพื้นที่ประมาณ112 ไร่ ภายในศูนย์ประกอบด้วยศูนย์ควบคุมการเดินรถ กลุ่มอาคารซ่อมบำรุง สำนักงานบริหารและจัดการ และโรงจอดรถไฟฟ้า
ทั้งนี้ตลอดเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนอื่นๆถึง 4 จุด คือ สถานีรัชดาฯ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT) สถานีลำสาลี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี สถานีพัฒนาการ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์และรถไฟสายตะวันออก สถานีสำโรง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีจำนวน 23 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีรัชดาฯ ตั้งอยู่ช่วงหน้าอาคารจอดแล้วจรบนถนนรัชดาภิเษก 2. สถานีภาวนา ปากซอยภาวนา(ลาดพร้าว 41) 3.สถานีโชคชัย 4 หน้าศูนย์การค้าโชคชัย 4 (ลาดพร้าว 53) 4.สถานีลาดพร้าว 71 บริเวณปากซอยลาดพร้าว 71 5. สถานีลาดพร้าว 83 ระหว่างซอยลาดพร้าว 83 กับซอยลาดพร้าว 85 6. สถานีมหาดไทย บริเวณปากซอยลาดพร้าว 95 7. สถานีลาดพร้าว 101 ใกล้ตลาดสดลาดพร้าว 8. สถานีบางกะปิ หน้าห้างแม็คโคร ใกล้เดอะมอลล์บางกะปิ 9. สถานีลำสาลี ช่วงแยกลำสาลี 10. สถานีศรีกรีฑา ช่วงแยกศรีกรีฑา 11. สถานีพัฒนาการ ระหว่างจุดตัดทางรถไฟและจุดตัดถนนพัฒนาการ 12. สถานีกลันตัน หน้าธัญญะช็อปปิ้งพาร์ค 13. สถานีศรีนุช ด้านทิศใต้ของแยกศรีนุช 14. สถานีศรีนครินทร์38 ปากซอยศรีนครินทร์38 15. สถานีสวนหลวง ร.9 ระหว่างห้างซีคอนสแควร์และห้างพาราไดซ์พาร์ค 16. สถานีศรีอุดม ช่วงแยกศรีอุดม 17. สถานีศรีเอี่ยม บริเวณทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม 18. สถานีศรีลาซาล บริเวณแยกศรีลาซาล 19. สถานีศรีแบริ่ง บริเวณแยกศรีแบริ่ง 20. สถานีศรีด่าน ใกล้กับแยกศรีด่าน 21. สถานีศรีเทพา ใกล้กับแยกศรีเทพา 22. สถานีทิพวัล ปากซอยหมู่บ้านทิพวัล และ 23. สถานีสำโรง ใกล้แยกสุเทพา ช่วงแยกตลาดสดเทพารักษ์
แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนี้มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามถนนลาดพร้าวจนถึงแยกบางกะปิ หลังจากนั้นจะเลี้ยวขวาไปเข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกลำสาลี โดยมีจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน 2 สายคือ สายสีส้ม บริเวณแยกลำสาลี และแอร์พอร์ตลิงค์ บริเวณแยกต่างระดับพระราม 9 ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกพัฒนาการ ศรีนุช ศรีอุดมสุข ศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา ก่อนจะเลี้ยวไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง มีระยะทางรวมประมาณ 30 กิโลเมตร
รถไฟฟ้าเส้นนี้แม้ว่าจะเริ่มประกาศขายเอกสารประกวดราคาไปแล้วแต่ยังมีกระบวนการคัดเลือกผู้รับเหมาอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะได้ผู้รับเหมาซึ่งคาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาในปลายปีนี้ก่อนที่จะเริ่มลงพื้นที่ก่อสร้างในปลายปีหน้า ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ซึ่งหากสามารถเร่งรัดงานก่อสร้างและงานระบบติดตั้งได้เร็วก็คงจะให้บริการได้เร็วขึ้น รถไฟฟ้าเส้นทางนี้คงจะสามารถช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในพื้นทีกรุงเทพมหานครโซนตะวันออกได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559