"ในหลวง" พระราชทานสัมภาษณ์กับ CNN “เรารักทุกคนเหมือนกันหมด”

01 พ.ย. 2563 | 22:36 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2563 | 07:31 น.

"ในหลวง" พระราชทานสัมภาษณ์เป็นครั้งแรกแก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็น (CNN/Channel4 News) ระหว่างมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ คืนวานนี้ (1 พ.ย.)  

 

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงจากฤดูฝนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาวถวายแด่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง หลังเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ ได้ทรงพระดำเนินไปตามถนนหน้าพระลาน ในช่วงหนึ่งระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทักทายประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จตลอดเส้นทางอย่างใกล้ชิดนั้น นายโจนาธาน มิลเลอร์ (Jonathan Miller) ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว CNN และ Channel4 News ได้ยื่นไมโครโฟนขอพระราชทานสัมภาษณ์ในหลวงว่า ประชาชนจำนวนมากมาย ณ ที่นี้ รักพระองค์ แต่พระองค์มีพระประสงค์จะตรัสอะไรกับผู้ประท้วงที่จะต้องการจะปฏิรูปสถาบันฯ หรือไม่ ในหลวงทรงตอบสั้น ๆ ว่า พระองค์ไม่ขอออกความเห็น (I have no comment.) และทรงตรัสย้ำถึง 3 ครั้งว่า “เรารักทุกคนเหมือนกันหมด” (We love them all the same)

\"ในหลวง\" พระราชทานสัมภาษณ์กับ CNN “เรารักทุกคนเหมือนกันหมด”

โจนาธานถามอีกว่า มีโอกาสที่จะประนีประนอมใด ๆหรือไม่ ในหลวงตรัสตอบว่า ประเทศไทยนั้นเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอยู่แล้ว (Thailand is the land of compromise.)

 

หลังจากนั้น สมเด็จพระราชินีฯ ทรงย้ำว่า “เรารักพวกคุณด้วยเช่นกัน” ( We also love you) ก่อนตรัสขอบใจ และการสัมภาษณ์ก็สิ้นสุดลง

 

โจนาธาน มิลเลอร์ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ของตัวเองซึ่งใช้ชื่อว่า ‘Jonathan Miller’ หลังจากนั้นว่า คืนนี้ เขาได้สัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของประเทศไทยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ขณะที่ประเทศไทยกำลังคุกรุ่นไปด้วยบรรยากาศของการประท้วงและการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ พระองค์ตรัสบอกเขาว่า “ประเทศไทยคือดินแดนแห่งการประนีประนอม” 

 

โจนาธานยังรายงานข่าวบนเว็บไซต์ของซีเอ็นเอ็นภายใต้หัวข่าว Thai King addresses protesters in rare public comments, saying he 'loves them all the same' ด้วยว่า สิ่งที่ในหลวงพระราชทานสัมภาษณ์สั้น ๆครั้งนี้ อาจแสดงให้เห็นว่ายังมีทางออกสำหรับสภาวะทางตันทางการเมืองในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเป็นเวลาเนิ่นนานหลายเดือนแล้ว