“ฐานเศรษฐกิจ” ขอประมวลเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ วันพระราชสมภพ และ พระราชประวัติ ของพระองค์ท่านเมื่อย้อนไปในปี พ.ศ. 2495 และบางช่วงเหตุการณ์สมัยทรงพระเยาว์ถึงปัจจุบัน เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายพระพรในวโรกาสอันน่าชื่นชมยินดีนี้
เกี่ยวกับพระนาม
ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 ซึ่งเป็นวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”
เวลานั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งถวายพระนาม “วชิราลงกรณ” โดยมีที่มาจากคำว่า “วชิรญาณ” พระนามฉายาขณะทรงพระผนวชในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับคำว่า “อลงกรณ์” จากพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชโอรสพระองค์เดียว
ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง มีความยินดีที่จะแถลงแด่ประชาชน เพื่อทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ประสูติพระราชโอรสแล้ว ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 เวลา 17.45 นาฬิกา สมเด็จพระนางเจ้าฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงพระสำราญดีทั้งสองพระองค์
ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บันทึกบรรยายบรรยากาศก่อนเวลาพระราชสมภพว่า “...วันนี้ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน...นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่ สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา 17 นาฬิกา กับ 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเองฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้...อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุก ๆ ดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า พระราชโอรส หรือพระธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส...”
ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่
หลังวันพระราชสมภพ 1 เดือนกับอีก 18 วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง ร.9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ตามโบราณราชประเพณี ในวันที่ 14 และ 15 กันยายน 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในพระราชพิธีนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้มีพระลิขิตไปถวายพระพรชัยมงคลในนามแห่งคณะสงฆ์ไทย
ในพระราชพิธีดังกล่าว สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีถวายพระพร มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ เนื้อหามีความไพเราะยิ่ง พสกนิกรทั่วประเทศปลาบปลื้มยินดี
อนุบาลรุ่นที่ 2 พระราชวังดุสิต
ปีพ.ศ.2499 ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นเป็นนักเรียนอนุบาลรุ่นที่ 2 ณ พระที่นั่งอุดร ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ประทับ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เสด็จไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างอาคารเรียนชั้นเดียวในบริเวณสวนจิตรลดา และพระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนจิตรลดา ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนนี้ จนถึงปีพ.ศ. 2505
หลังจากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2509 แล้วทรงศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ระหว่างปี 2509-2513 ด้วยพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัย และสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพ โปรดการสเด็จเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่าง ๆกับพระราชบิดานับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ช่วงเดือนส.ค. 2513 ถึง พ.ค. 2514 จากนั้นในเดือนม.ค. 2515 จึงทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา
การสถาปนาเป็นองค์มกุฎราชกุมาร
เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารตามโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”
นับเป็นองค์สยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในวาระอันเป็นมงคลนั้น พระองค์ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ความว่า ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญา ความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิต ร่างกายจะหาไม่
เจ้าฟ้านักบิน-กษัตริย์นักบินพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี
ภาพที่ปวงชนชาวไทยเห็นจนเจนตา คือภาพที่ทรงฉลองพระองค์ในเครื่องแบบทหารอากาศ และฉลองพระองค์นักบิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการบิน พระองค์ยังทรงได้รับการถวายพระสมัญญา “เจ้าฟ้านักบินพระองค์แรก” แห่งราชวงศ์จักรี และแน่นอนว่า ณ วันนี้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์นักบิน” พระองค์แรกของปวงชนชาวไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการบินอย่างจริงจัง โดยทรงมุ่งมั่นทุ่มเทในการศึกษาเล่าเรียนด้านนี้มาตลอดตั้งแต่พระชนมายุเพียง 11 พรรษา จากครั้งที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ จากนั้นจึงทรงศึกษาฝึกฝนศาสตร์ด้านการบิน จนทรงพระปรีชาสามารถด้านการบินในทุกรูปแบบ
เส้นทางแห่ง “เจ้าฟ้านักบิน” เริ่มต้นอย่างจริงจังหลังจากที่่ได้ทรงศึกษาต่อทางด้านวิชาทหาร พระองค์ทรงศึกษาในสถาบันชั้นนำระดับโลก ทั้งที่โรงเรียนคิงส์ ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519
ต่อมา ยังทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลียโดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ หลักสูตรการทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ และยังทรงเข้าการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ทางด้านการบินอีกมากมาย ทำให้ทรงมีพระประสบการณ์และทรงพระปรีชาสามารถด้านการบินในระดับสูงมาก
ระหว่างปลายปี พ.ศ.2525 ถึงปลายปี พ.ศ.2526 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปฝึกศึกษาด้านการบินกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ เอฟ-5 อี/เอฟ ที่ฐานทัพอากาศ วิลเลียม รัฐแอริโซนา ในหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นพื้นฐาน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2525 ถึงเดือนพฤษภาคม 2526 มีชั่วโมงบินตามหลักสูตร 97.5 ชั่วโมง และหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูง ระหว่างเดือนมิถุนายน 2526 ถึง กันยายน 2526 มีชั่วโมงบินตามหลักสูตร 41.8 ชั่วโมง เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย ทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบขั้นสูงกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง เอฟ-5 อี/เอฟ ที่กองบิน 1 ฝูง 102 อีก จนจบหลักสูตร
พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ ยังทรงพระกรุณาปฏิบัติหน้าที่ครูการบินแก่นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ แบบ เอฟ 5 อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทย และปวงชนชาวไทย
บัดนี้กาลเวลาผ่านไป ได้เป็นที่ประจักษ์ว่าตลอดระยะเวลา นับแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงยึดมั่นในพระราชปฏิญญามาโดยตลอด ทรงพระวิริยอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์โดยมิได้ย่อท้อ
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
วิกิพีเดีย สารานุกรมออนไลน์ และแพรวดอตคอม (praew.com)