วันนี้ (15 ก.ย. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวเปิดการประชุม APEC Climate Symposium 2022 (APCS 2022) เปิดเผย ระหว่างเป็นประธาน เปิดงาน “การเสริมสร้างความสามารถการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเอเปคด้วยแอพพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ ว่า ภาพรวมวันนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝนซึ่งน่าจะไปถึงสิ้นเดือนตุลาคม
คาดว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องไปอีกหนึ่งถึงสองสัปดาห์ก็ขอให้พี่น้องประชาชนเฝ้าระวังและติดตามข่าวการแจ้งเตือนเรื่องภัยน้ำท่วมเพราะยังมีโอกาสอยู่ที่จะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่อย่างเช่นที่เกิดในช่วงที่ผ่านมาเช่น พื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ซึ่งตอนนี้ก็ต้องเร่งระบายน้ำเพื่อรองรับโอกาสที่จะมีฝนตกเติมเข้ามาอีก ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ อาจจะมีพายุ เข้ามาในประเทศไทยได้อีก หนึ่งถึงสองลูกในช่วงกันยายนถึงตุลาคม ทางกระทรวงดิจิทัลก็ติดตามเฝ้าระวังอยู่ และหลังจากเดือนตุลาคมร่องมรสุมก็น่าจะลงไปทางภาคใต้ ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมในพื้นภาคใต้อีกด้วย
ปัจจุบันรัฐบาลทํางานแบบบูรณาการ มีระบบไอที ระบบคอมพิวเตอร์มาใช้เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด การพยากรณ์อากาศโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์แล้วส่งข้อมูลไปที่กทม. สำนักงานระบายน้ำกรมชลประทาน ศูนย์เตือนภัย ปภ. กระทรวงมหาดไทยจะมีข้อมูลทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ที่สําคัญคือ เมื่อมีการแจ้งเตือนไปแล้ว จะมีการประสานงานกันเพื่อให้ทุกหน่วยงานได้มีแผนในการรับมือกับปริมาณน้ำที่เกิดขึ้น
แต่ก็ต้องเรียนให้พี่น้องประชาชน ถึงแม้ว่าเราจะทราบล่วงหน้าว่าจะมีฝนตกหนักแต่ด้วยระบบการระบายน้ำ หรือสภาพพื้นที่ของเรา เช่นอย่างใน กทม.ท่อระบายน้ำอาจจะเล็ก มีถนน มีชุมชนเยอะ การระบายน้ำก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นมันก็จะมีขีดจำกัด บางจุดอาจระบายไม่ทัน เพราะว่าติดด้วยสภาพภูมิประเทศหรือสภาพบ้านเมืองซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องทียาก ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ส่งข้อมูลพยากรณ์อากาศให้กับ กทม.และหน่วยงานที่มีภารกิจในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนอยู่ตลอด จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมตัวรับมือสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด
สำหรับการประชุม APEC Climate Symposium 2022 (APCS 2022) เป็นงานที่เกี่ยวกับการประชุมเอเปคมี 21 เขตเศรษฐกิจที่มาเข้าร่วมประชุม ซึ่งจะมีการประชุมเอเปคซัมมิทในเดือนพฤศจิกายน ผู้นําหลายประเทศก็จะมาประชุม วันนี้จะเป็นการประชุมย่อยที่เราจัด ในหัวข้อ “การเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเอเปคด้วยแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ (Enhancing APEC Resilience through AI Applications in Climate Change Adaptation)” นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการพยากรณ์อากาศ และในการวางแผนการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน การผลิตสินค้า การบริการต่างๆ รวมถึงเรื่องการเกษตรเพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัว ใช้ชีวิตกับ climate change ได้โดยใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หลายประเทศก็เริ่มพัฒนากันแล้วได้นํามาใช้ ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อให้ข้อมูลที่ได้จากการจากการพยากรณ์อากาศ มีความเเม่นยำมากขึ้น