หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) ถูกตั้งขึ้นตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคาร กรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ BBC ก่อนจะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ประกอบกิจการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542
การดำเนินงานของ BAM ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาถือว่าบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ ปัจจุบันมี NPL ในความดูแลจำนวน 87,371 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 496,002 ล้านบาท คิดเป็น 98.06% ของระบบสถาบันการเงิน และมี NPA จำนวน 24,378 ราย มูลค่าราคาประเมิน 72,958 ล้านบาท คิดเป็น 47.19% ของระบบสถาบันการเงิน
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บทบาทหลักของเราคือ เราตั้งหลักจะเป็นแก้มลิงให้ระบบเศรษฐกิจ เป็นแนวนโยบายที่มีมาแต่ต้นและแม้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว หลักการเราก็เหมือนเดิม เราจะเป็นแก้มลิงที่จะดูดเอาหนี้เสียจากระบบธนาคารพาณิชย์ออกมาแก้ไขให้กลายเป็นหนี้ดี เมื่อลูกหนี้มาอยู่กับเรา เรามีโครงการที่สามารถจะดูแลลูกหนี้ได้เหมือนลูกค้าชั้นดีของเราเลย
โครงการสำหรับลูกหนี้ต่างๆ เป็นโครงการที่ทำมาตั้งแต่มี BAM แล้ว แต่ในโอกาสครบรอบ 25 ปี เราทำแคมเปญด้วยเลข 25 คือ โครงการสุขใจได้บ้านคืน จะเจรจาด้วยต้นเงิน ส่วนดอกเบี้ยค้างรับจะเก็บไว้ก่อนและไม่ว่าลูกหนี้จะผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์นานแค่ไหน แต่เมื่อมาอยู่กับ BAM สามารถผ่อนชำระได้นานถึง 25 ปี ภาระหนี้เงินต้นต่อรายไม่เกิน 25 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 25 เดือน จึงสามารถตัดเงินต้นได้เลยในช่วง 2 ปีครึ่ง ทำให้ภาระผ่อนลดไปเยอะเลย และหากอายุลูกหนี้ 70 ปี สามารถนำลูกที่จะรับมรดกมารับสภาพหนี้ต่อได้ เพื่อให้อายุหนี้ยาวขึ้น
ส่วนโครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ (กลุ่ม SME) ผ่อนไม่เกิน 25 ปี หรือชำระครั้งเดียวภายใน 90 วัน ดอกเบี้ย 0% นาน 25 เดือน ภาระหนี้เงินต้นต่อรายไม่เกิน 25 ล้านบาท ชำระหนี้ขั้นต่ำ 80% ของราคาประเมิน
โครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้ ลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีภาระหนี้เงินตันไม่เกิน 3 ล้านบาท ชำระหนี้ครั้งเดียวให้เสร็จสิ้น ภายใน 90 วัน หรือผ่อนชำระภายใน 3 ปี และโครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้เกษตรกร ช่วยเหลือในการประนอมหนี้กับกลุ่มลูกหนี้เกษตรกร ให้มาชำระหนี้ตามกำลังความสามารถและด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน
"ลูกหนี้ที่จะมาอยู่กับ BAM จะมี Hello letter ไปหา ใครที่ได้รับให้รีบมา เพราะโปรแกรมพวกนี้ดีกับลูกหนี้มากๆ เป็นแคมเปญขอบคุณลูกค้าด้วยเงื่อนไขที่ดีที่สุดในรอบ 25 ปี และเพื่อรักษาวินัยการเงิน จึงไม่ได้แฮร์คัทไปมากกว่าดอกเบี้ยค้างรับ” นางทองอุไรกล่าว
ลำหรับลูกค้าที่ซื้อทรัพย์ BAM ได้มีการจัดงาน BAM Big Thanks เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสนอขายทรัพย์ราคาพิเศษสุดในรอบ 25 ปี โดยลูกค้าซื้อทรัพย์แบบผ่อนชำระ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR BAM ลบ 3% นาน 12 เดือน จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MRR BAM จนครบอายุสัญญา สูงสุดไม่เกิน 20 ปี งานนี้ BAM จำหน่ายทรัพย์ไปได้เกือบ 1,000 ล้านบาท
รวมถึงจะจัดแคมเปญขอบคุณลูกค้าด้วยกิจกรรม Lucky Draw มอบสิทธิลุ้นรางวัลให้กับลูกค้าที่ซื้อทรัพย์สินรอการขายของ BAM รวมมูลค่าของรางวัลทั้งสิ้นกว่า 6.5 ล้านบาท ประกอบไปด้วย บ้านเดี่ยว มูลค่ากว่า 2.8 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท ที่ดินเปล่า มูลค่ากว่า 6 แสนบาท พิเศษรถยนต์ไฟฟ้า Tesla มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท
"ด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เรากังวล ซึ่งเรามองตั้งแต่เกิดโควิดแล้วว่าหนี้เสียต้องเกิดเยอะแน่ ทั้งเอสเอ็มอี ชาวบ้านร้านค้ารายย่อยๆ จะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อคนไม่ออกมากินข้าวนอกบ้าน ไม่ใช้เงิน แล้วเราจะดูแลคนเหล่านี้อย่างไรในฐานะที่ BAM เป็น AMC ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่อย่าลืมว่า เราเองก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าซื้อทุกอย่างมาที่ BAM สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จะเกินเกณฑ์ที่เราควบคุมไว้"
ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนหรือ Joint Venture: JV ที่จะเป็นบริษัทลูกแยกออกไป BAM รับผิดชอบเงินลงทุน ที่เหลือ JV และผู้ถือหุ้นรับไป ถ้าบริหารไม่ได้ เราก็เสียเท่าที่ลงทุนไป แต่ถ้าบริหารได้ ผลตอบแทนจะกลับคืนมา ซึ่งจากประสบการณ์ในการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ TAMC เพื่อมารับโอนหนี้ NPL จากสถาบันการเงิน พบว่า เมื่อปิดโครงการ 10ปี แต่ละแบงก์กำไรทุกแห่ง เพราะอสังหาฯพวกนี้มันขึ้นด้วยราคาปีต่อปี
นางทองอุไรกล่าวต่อว่า JV น่าจะตอบโจทย์ เพราะในทางบัญชีเราจะลงแค่เงินลงทุน ส่วนหนี้ไม่ได้อยู่ในสัดส่วน D/E ก้อนนี้จะแยกไปเป็นบริษัทย่อย ทำให้รักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนได้ไม่เกิน 2.5 เท่า แม้บางช่วงอาจจะเกินบ้างเล็กน้อยตอนที่ซื้อทรัพย์เข้ามา เพราะภาวะหนี้ขณะนี้ BAM แทบจะเป็นผู้เล่นไม่กี่รายในตลาด ที่เหลือถอยหมดแล้ว เมื่อเข้าไปดูทรัพย์ ถ้าราคาดี ซื้อได้ก็ซื้อ ถ้าราคาไม่ไหว จะปล่อยคืนไปที่แบงก์ หากอยากจะมาเจรจาตั้ง JV กับเราก็ได้ เพราะ JV สุดท้ายแบ่งกำไรคนละครึ่ง
ทั้งนี้ตามแผนจะมีการเจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อทำ JV เป็นรายๆไป กำลังคุยกับแบงก์พาณิชย์รายหนึ่งใกล้จบแล้ว ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ที่จบแล้วคือ ร่วมทุนกับธนาคารออมสินจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ อารีย์ขึ้น เพื่อรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน และหนี้บางส่วนที่ BAM จะรับมาบริหารเป็นหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันหรือ Clean Loan โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จะสามารถรับซื้อและโอนหนี้กว่า 500,000 บัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท คาดว่ากว่าจะรีเทิร์นเป็นกำไรกลับมาที่ BAM ประมาณ 3 ปีอย่างน้อย
ขณะที่ BAM เชื่อมั่นว่า เรามีความพร้อมด้านประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการลูกค้าในทุกช่องทางอย่างครบวงจร การมีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ จะช่วยให้ความร่วมมือในการผลักดันการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนลุล่วงไปได้ด้วยดี อีกทั้งยังช่วยแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงช่วยให้สถาบันการเงินที่ร่วมทุนสามารถจัดทรัพยากรที่มีอยู่ให้รองรับการดำเนินงานตามพันธกิจและนโยบายของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
คำถามต่อมาคือ BAM จะอยู่รอดได้อย่างไร ตัวหลักของความอยู่รอดทุกองค์กรคือ ธรรมาภิบาล : Good governance ของคณะกรรมการ(บอร์ด) ซึ่งเราโชคดีที่มีโครงสร้างบอร์ดที่ดีมาก มีทั้งนักกฎหมาย นักบัญชี ทีมบริหารต้องการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ซึ่งได้ให้นโยบายตั้งแต่ต้นว่า BAM ต้องมี 5 ดี คือคีย์เวิร์ดที่อยากให้มี
ดีแรก คือ ดีต่อประเทศ ทำอย่างไรที่จะเอาหนี้เสียแล้วมาพลิกฟื้นไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด ดีต่อสังคม BAM ทำ CSR เยอะมาก ไม่ว่าพลิกฟื้นคืนเศรษฐกิจ คืนหนี้ให้เกษตรกร คืนบ้านที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้าน ดีต่อลูกหนี้ โปรแกรมเราทั้งตัด ทั้งลด ลูกหนี้จะได้กลับไปยืนในระบบได้เสียที ดีต่อผู้ถือหุ้น ต้องมีกำไรคืนผู้ถือหุ้น ซึ่งหลังเข้าตลาดเราจ่ายปันผลตลอดแม้ในช่วงโควิดระบาด และโดยเฉลี่ยอัตราการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 4-5% และ ดีต่อพนักงาน ถ้าพนักงานไม่มีความสุข ก็จะไม่อยู่กับเรา อัตราการหมุนเวียนพนักงานเราต่ำมาก
ขณะเดียวกัน เรามีการทำ SWOT เพื่อจะบอกเราว่า จุดแข็งของเราคืออะไร การทำ JV เป็นหนึ่งในจุดแข็งของเรา และเรายังมีเรื่องการประเมินราคาที่ดินซึ่งเรามีเครือข่ายภูมิภาคถึง 26 สำนักงานทั่วประเทศ (รวมสำนักงานใหญ่) เพื่อช่วย BAM ประเมินราคาก่อนที่จะซื้อทรัพย์ เพราะธุรกิจบริหารสินทรัพย์จะอยู่รอดได้ ราคาเป็นเรื่องสำคัญ เรามีคนของเราทั่วประเทศ ไปดูทรัพย์ได้ทุกชิ้น เมื่อได้ราคาที่ดีทำให้มีช่องทางและทางเลือกที่จะเจรจากับลูกหนี้ได้เยอะขึ้น
ส่วนจุดด้อยคือ เราใช้คนทำงานเยอะมาก ทำอย่างไรที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์ในตัวในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เราเริ่มจากจับมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ ก่อน พร้อมกับพัฒนาขึ้นมาเองภายใต้ชื่อ BAM Choice ซึ่งจะทำให้ BAM เป็น Mobile AMC แบบครบวงจรแห่งแรกในไทย มุ่งหวังเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ (NPL) และลูกค้าซื้อทรัพย์ (NPA) ให้เข้ามาทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบยอดค้างชำระ ชำระเงินออนไลน์ และแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อครบกำหนดชำระ
รวมถึงเมนูประนอมหนี้ออนไลน์ (E-TDR) ที่จะเพิ่มความสะดวกให้ลูกหนี้ สามารถกำหนดแผนและปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ได้บนช่องทางออนไลน์ พร้อมมีเมนูค้นหาและจองซื้อทรัพย์ที่ได้รวบรวมทรัพย์สินรอการขายทำเลดีราคาโดนจำนวนกว่า 18,000 รายการ ให้ลูกค้าได้ช็อปผ่านหน้าจอ
ทั้งนี้แอปพลิเคชัน BAM Choice จะแบ่งการเปิดใช้งานออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกเริ่มเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนสมัครสมาชิกเพื่อรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะโปรโมชั่น และสิทธิประโยชน์สำหรับลูกหนี้และลูกค้า รวมทั้งลูกหนี้จะสามารถตรวจสอบยอดภาระหนี้คงเหลือ ชำระหนี้ออนไลน์ ดูใบเสร็จรับเงิน และมีระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อครบกำหนดชำระ
"เรายังมีคลังข้อมูล (Data Center) เราใส่ข้อมูลที่เราไล่เก็บ 25 ปี จะทำให้รู้ทันทีว่า เราซื้อหนี้จากแบงก์ไหน ราคาที่ชนะการประมูล เอามาบริหารจัดการเป็นอย่างไร พอร์ตไหนกำไร เพราะฉะนั้นราคาที่เราจะซื้อจะเป๊ะยิ่งกว่าเดิม ทำให้การวิเคราะห์ดีขึ้น"นางทองอุไรกล่าวทิ้งท้าย