“นาริฐา วิบูลยเสข” ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า จากหนึ่งในพันธกิจด้านความยั่งยืนของเนสท์เล่ กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 คือการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยเนสท์เล่ได้จัดทำโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ ด้วยการร่วมมือกับโรงเรียน ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม ล่าสุด เนสท์เล่ได้ขยายผล ต่อยอดความรู้การคัดแยกขยะ ลดการทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ และนำขยะมาเปลี่ยนเป็นเงินที่ “ตลาดนัดขยะชุมชน”
“ตลาดนัดขยะชุมชน” เริ่มโครงการนำร่องครั้งแรก ที่โรงเรียนจรัสวิทยาคาร ต.บ้านหลวง อ.เสนา โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 วงษ์พาณิชย์ ในพื้นที่อยุธยา ได้ส่งทีมงานมาสอนการคัดแยกขยะ พร้อมทั้งให้ความรู้ว่า ขยะแต่ละประเภทมีมูลค่าอย่างไร เท่าไร เอาไปทำอะไรได้บ้าง โดยมีชาวบ้านกว่า 100 คนจากชุมชนเข้าร่วม และวงษ์พาณิชย์ยังรับซื้อขยะประเภทต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาขายที่ตลาดนัดแห่งนี้
“ดร.สมไทย วงษ์เจริญ” ประธาน วงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า วงษ์พาณิชย์มาร่วมกับเนสท์เล่ ซึ่งใช้หลักการความรับผิดชอบ EPR (Extended Producer Responsibility) จัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ชุมชน ทำให้ขยะ ไม่ใช่ขยะ รีไซเคิลได้ 100% สามารถแปรรูปเป็นเสื้อผ้า ชุดนักเรียน นักศึกษา และอื่นๆ รวมไปถึงการทำเป็น “เชื้อเพลิงขยะ” (Refuse Derived Fuel: RDF) ที่มีมูลค่าสูง เช่น ถุงพลาสติกใส่แกง ที่สามารถตัดเป็น 3 ชิ้นโดยไม่ต้องล้าง สามารถนำไปทำขยะ RDF3 ที่มีค่าความร้อนสูง
นอกจากนี้ ยังมีชิ้นส่วนในโทรศัพท์มือถือ ขยะอิเลคทรอนิกส์ เหล็ก อะลูมิเนียม และอื่นๆ ที่ถือเป็นขยะที่มีมูลค่า สร้างรายได้ที่ดีได้หากได้รับการคัดแยกอย่างถูกวิธี
“นาริฐา” กล่าวว่า “ตลาดนัดขยะชุมชน เสริมรายได้ ไม่ทิ้งเงินลงน้ำ” ที่โรงเรียนจรัสวิทยาคาร เป็นโครงการนำร่อง ที่จะมีการต่อยอดไปยังชุมชนแหล่งอื่นๆ ต่อไป ตามเป้าหมายการลดปัญหาขยะชุมชนและในแหล่งน้ำ
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,840 วันที่ 1 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2565