กสศ. เปิดปฏิบัติการ Thailand Zero Dropout หยุดปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา

04 มิ.ย. 2567 | 06:36 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2567 | 06:47 น.

เปิดแนวทางขับเคลื่อน'Thailand Zero Dropout' เด็กหลุดนอกระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์ กสศ. จับมือ 11 หน่วยงาน ค้นหา ช่วยเหลือ  ย้ำจุดเริ่มต้นสำคัญคือเด็กทุกคนต้องอยู่ในเรดาร์  และมีทางเลือกการศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตเด็ก ประชุมนัดแรก 14 มิถุนายน 2567 นี้

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายและ มาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout  

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไปตามข้อเสนอของกสศ.  ซึ่งกสศ.กำลังทำงานร่วมกับ 11 หน่วยงาน เช่น กระทรวงคึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   โดยจะมีการประชุมนัดแรกร่วมกับทั้ง 11 หน่วยงานในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2567 นี้

 

ดร.ไกรยส กล่าวว่า หลังระบบการศึกษาไทยเผชิญวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาและกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดของประเทศไทยปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกพื้นที่ ครอบครัวหลายแสนครัวเรือนยังคงมีโอกาสสูงที่จะยังติดอยู่ในกับดักความยากจน เนื่องจากลูกหลานของครอบครัวเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถสำเร็จการศึกษาที่สูงกว่ารุ่นพ่อแม่ต่อไปอีก 1 ชั่วคน

กสศ. เปิดปฏิบัติการ Thailand Zero Dropout หยุดปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา

และด้วยความท้าทายที่ประเทศไทยก้าวเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งมีอัตราการเกิดใหม่ลดลงต่ำกว่าปีละ 500,000 คนแล้ว ส่งผลให้ประเทศไทยอาจติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางต่อไปอีกหลายปี 
 

ด้วยเหตุนี้ หากประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจนทำให้จำนวนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ได้ (Zero Dropout) ภายในทศวรรษข้างหน้านี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนเกือบ ร้อยละ 1.7 ของ GDP จากรายงานการประเมินขององค์การยูเนสโก ผ่านการเพิ่มขึ้นของรายได้ตลอดชีวิตของเด็กและเยาวชนที่มีการศึกษาสูงขึ้น ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เกือบเท่ากับค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 1.6 เท่านั้น

จากการทำงานด้านข้อมูลร่วมกันอย่างต่อเนื่องระหว่าง กสศ. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดีอี พบว่าตัวเลขนักเรียนในระบบการศึกษาที่เข้าเรียนในระดับอนุบาลถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อ1.-ม.6) ในทุกสังกัดประมาณ 11 ล้านคน จากข้อมูลของ EDC Education Data Center สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักทะเบียนราษฎร์กระทรวงมหาดไทย พบเด็กและเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา (เด็กนอกระบบ) ในปี 2566 ประมาณ 1.02 ล้านคน โดยเด็กในกลุ่มนี้ ประกอบด้วยเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เด็กที่เข้าเรียนล่าช้า เด็กที่เคยเข้าเรียนแล้วแต่ออกกลางคันทั้งก่อน และหลังสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ รวมทั้งเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา

กสศ. เปิดปฏิบัติการ Thailand Zero Dropout หยุดปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา

“หากเห็นตัวเลขจำนวนเด็กตกหล่น ปี 2566 สะสมประมาณ 1.02 ล้านคน อาจจะดูสูงจนน่าตกใจ แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขเด็กนอกระบบในรายจังหวัด เทียบกับจำนวนประชากรวัยเรียนในพื้นที่แล้วจะพบว่า เกือบทุกจังหวัดมีอัตราส่วนเด็กนอกระบบการศึกษาเป็นตัวเลขหลักเดียว หรือราว 1-3% ของประชากรในวัยเดียวกันของพื้นที่จังหวัดต่างๆ  มีเพียงพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดตาก ที่มีเด็กนอกระบบสูงถึง 6-13% ของฐานประชากรวัย 3-18 ปี”

ผู้จัดการ กสศ. ระบุว่า ข้อสังเกตจากจังหวัดที่มีตัวเลขเด็กกลุ่มนี้สูง พบว่า สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของจังหวัด มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างโต  เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสหางานทำได้มาก เป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้ กทม. เหมือนมีหลายจังหวัดทับซ้อนอยู่

กสศ. เปิดปฏิบัติการ Thailand Zero Dropout หยุดปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า กทม. ตาก และทุกจังหวัด มีศักยภาพ ในการช่วยเหลือและดูแลเด็กกลุ่มนี้ โดยเสนอให้มองปัญหานี้เป็นปัญหาระดับประเทศที่สามารถแก้ไขร่วมกันได้  และสามารถจัดการได้ในระดับจังหวัด และดำเนินการได้ในระดับชุมชน ผ่านการติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง มีการออกแบบกลไกรายจังหวัด สนับสนุนแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนซึ่งรู้จักทุกคนในชุมชน รู้จักครอบครัวเด็กทุกบ้าน ออกไปเคาะประตูบ้านของนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา เพื่อทราบปัญหาซึ่งอาจจะมีความซับซ้อนด้านต่างๆ  มีเงื่อนไขชีวิตที่ลำบาก  ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อย ครอบครัวขาดแคลน หรือมีภาวะไม่พร้อม นำมาออกแบบแนวทางแก้ไขที่ตรงจุดผ่านความร่วมมือจากสหวิชาชีพของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสในการพาพวกเขากลับมาเรียน และหามาตรการไม่ให้หลุดจากการศึกษาซ้ำอีก

กสศ. เปิดปฏิบัติการ Thailand Zero Dropout หยุดปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา

ผู้จัดการ กสศ. ชี้ว่า  มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมานี้ถือเป็นกุญแจดอกแรกในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ทั้ง 4 มาตรการ ได้แก่

  1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
  3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่นมีคุณภาพและเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย 
  4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการติดตามเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งจะทำให้ทุกจังหวัดมีกลไกทำงานให้ทุกต้นเทอม ทุกโรงเรียน ทุกจังหวัด จะมีระบบการติดตามผู้เรียน และฟื้นฟูเด็กเตรียมความพร้อมการเข้าเรียนใหม่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือเด็กนอกระบบถือเป็นหลักกิโลเมตรสุดท้ายของการศึกษาไทย จึงถือเป็นงานที่ยากที่สุดของการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG4)  แต่หน่วยงานต่างๆ กำลังพยายามใช้หลักการ “ปวงชนเพื่อการศึกษา” (All for Education) นำเด็กเยาวชนวัยเรียนทุกคนกลับมาสู่ระบบการศึกษายืดหยุ่น และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ตอบโจทย์ชีวิตได้จริง

กสศ. เปิดปฏิบัติการ Thailand Zero Dropout หยุดปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา

โครงการ Zero Dropout ไม่ได้หมายถึงเด็กเยาวชนทุกคนจะกลับเข้าสู่โรงเรียนทันที แต่หมายถึงว่า เด็กทุกคนจะมีทางเลือกในการเรียนรู้ และพัฒนาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต หรือแม้จะยังไม่พร้อมกลับเข้าระบบ พวกเขาก็จะมีเส้นทางการเตรียมความพร้อม การได้รับการฟื้นฟู 3-6 เดือนก่อนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อค้นพบคุณค่าและเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งเชื่อมโยงกับเส้นทางการศึกษาต่างๆ จะช่วยให้เขาบรรลุเป้าหมายของชีวิตและครอบครัวได้ นั่นคือปลายทางของ Zero Dropout ที่ทุกฝ่ายตั้งใจให้เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะลดจำนวนทั้งหมดลงได้ในคราวเดียว แต่หมายถึงให้เด็กทุกคนอยู่ในเรดาร์ ที่จะถูกค้นพบ หน่วยงานของรัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทราบได้ว่าจะหาเด็กกลุ่มนี้ได้ที่ไหน และช่วยให้เด็กทุกคนมีแผนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

กสศ. เปิดปฏิบัติการ Thailand Zero Dropout หยุดปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา

กระบวนการนี้ จะทำให้ได้บทเรียนมากมายต่อการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยในระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นตัวเลขเหลือน้อยลงเพียงเฉพาะเด็กเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาชั่วคราว หรือ รอกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาปีละประมาณ 2-3 แสนคน ซึ่งทุกคนอยู่ในการดูแล และเตรียมความพร้อมในการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต เป็นเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้ภายในสมัยรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

"เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะไม่สามารถหลบเลี่ยงปัญหาเด็กที่กำลังเกิดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทย” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว