ปตท.สผ. ขยายลงทุนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในแปลงสำรวจชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ

26 ต.ค. 2565 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2565 | 15:34 น.

ปตท.สผ. ขยายลงทุนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในแปลงสำรวจชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ รัฐชาร์จาห์ เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 25% จากบริษัท อีเอ็นไอ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสิทธิ (Farm In Agreement) เพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 25% ในแปลงสำรวจ ชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ (Sharjah Onshore Area A) ในรัฐชาร์จาห์ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากบริษัท อีเอ็นไอ ชาร์จาห์ บี.วี. ในเครือของบริษัท อีเอ็นไอ (Eni) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของประเทศอิตาลี โดยคาดว่าการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวจะเสร็จสิ้น และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐของยูเออีภายในปี 2565 

 

“การเข้าร่วมทุนในแปลงชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ นับเป็นการลงทุนโครงการที่ 5 ของ ปตท.สผ.ในยูเออี ตั้งแต่ที่บริษัทได้เริ่มการลงทุนในยูเออีเมื่อปี 2562 ตามกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูง อีกทั้ง ยังเป็นการต่อยอดความร่วมมือกับอีเอ็นไอซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่ ๆ” 

สำหรับแปลงสำรวจ ชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ ตั้งอยู่ในรัฐชาร์จาห์ ทางตอนเหนือของยูเออี มีพื้นที่ประมาณ 437 ตารางกิโลเมตร โดยอีเอ็นไอได้รับสัมปทานแปลงดังกล่าวจากเอสนอค (SNOC) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งรัฐชาร์จาห์ เมื่อต้นปี 2562 

 

 

ภายหลังการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้ กลุ่มผู้ร่วมทุนในแปลงแอเรีย เอ จะประกอบด้วย พีทีทีอีพี มีนา ถือสัดส่วนการลงทุน 25% อีเอ็นไอ ชาร์จาห์ บี.วี. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ 50% และ เอสนอค 25%
 

นอกจากแปลงสำรวจ ชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ แล้ว ปตท.สผ. ยังมีการสำรวจปิโตรเลียมในยูเออีในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 และโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย ซี โดยเป็นการลงทุนร่วมกับอีเอ็นไอทั้ง 4 โครงการ ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปตท.สผ. และอีเอ็นไอ ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 โดยค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่