นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ว่า หากต้องการให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเอกชน ภาครัฐจะต้องหาเงินมาสนับสนุน หรือขอให้ กฟผ. งดนำส่งเงินเข้านรัฐ
ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้ของ กฟผ. ที่นำส่งเข้ารัฐยังคงค้างจ่ายปี 2565 ประมาณ 17,000 ล้านบาท หากให้แบกรับไปมากกว่านี้ก็คงไม่ไหว
สำหรับการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (FT) ในรอบนี้ มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ที่มีราคาแพงมาทดแทนเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติ จากเมียนมาที่ลดลง
อีกทั้งต้องทยอยจ่ายคืนหนี้ค่าเอฟทีคืนให้กับ กฟผ. บางส่วนราว 33 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาทต่องวด เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายในเวลา 2 ปี ขณะที่กฟผ.ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท
"หากจะจ่ายคืนค่าเอฟทีให้กับ กฟผ. ต่ำกว่า 33 สตางค์ต่อหน่วยก็คงไม่ไหวแล้ว กฟผ. ไม่สามารถแบกรับต้นทุนไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว หากต้องการลดค่าไฟรัฐคงต้องหาเงินส่วนอื่นมาชข่วยอุดหนุน"
นายบุญญนิตย์ กล่าวต่อไปอีกว่า กฟผ. บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาวิกฤตราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้า ปัจจุบันรวมแล้ว 1.7 เเสนล้าน
แม้ กฟผ. จะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลัง ที่ต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง แบกรับไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว