การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีการเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 38.22 บาทต่อเดือน โดยลงชื่อของนายธนพันธ์ เตียสุวรรณ ผู้อำนวยการกองสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร กฟภ. ซึ่งมีข้อความระบุ ว่า ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวการเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 38.22 บาทต่อเดือน นั้น กฟภ.ได้ตรวจสอบแล้ว
ขอเรียนชี้แจงว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล โดยในส่วนของค่าบริการรายเดือน เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการจำหน่ายไฟฟ้า ที่กำหนดจากค่าใช้จ่ายในการอ่านหน่วยเครื่องวัดไฟฟ้า การจัดทำใบแจ้งค่าไฟฟ้า การรับชำระเงินค่าไฟฟ้า
ซึ่งจะต้องดำเนินการกับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นประจำทุกเดือน แม้จะมีการใช้ไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม ต้นทุนของค่าบริการรายเดือนไม่ได้มีในส่วนของค่าบำรุงรักษามิเตอร์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่คิดค่าบริการรายเดือนเท่ากับ 38.22 บาทต่อเดือน มีจำนวน 9 ล้านราย และตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป จะมีการปรับลดค่าบริการรายเดือนจากเดิม 38.22 บาทต่อเดือน เป็น 24.62 บาทต่อเดือน
สำหรับประเด็นดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานประชุม นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามทั่วไป เรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพง ถามนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ว่า รัฐธรรมนูญหมวด 5 มาตรา 56 ระบุว่า รัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รัฐจะทำการใดๆ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือรัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 50% จะกระทำไม่ได้ และการเรียกเก็บ จะให้เป็นภาระต่อประชาชนไม่ได้ ประชาชนต้องเข้าถึงอย่างเป็นธรรมเสมอภาค แต่ ‘ค่าบริการรายเดือน’ ในบิลค่าไฟ จำนวน 38.22 บาท ในรายละเอียดบอกว่าเป็นค่าพิมพ์บิล , ค่ารักษามิเตอร์ , ค่าจัดส่งเอกสาร ทั้งที่ประชาชนจ่ายค่ามิเตอร์ไปแล้ว เงินประกันก็อยู่ที่การไฟฟ้าแล้ว ส่วนเรื่องบิลเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานจะต้องทำบิลส่งอยู่แล้ว เหตุใดถึงเก็บเป็นค่าบริการอีก
นายมานพ ระบุว่า มิเตอร์ไฟในประเทศไทยมีประมาณ 50 ล้านมิเตอร์ คิดเป็นเงินจำนวน 1,911 ล้านบาทต่อเดือน ที่ประชาชนจะต้องจ่าย ถามว่า ‘ค่าบริการรายเดือน’ มีที่มาที่ไปอย่างไร จะจัดการไม่ให้มีได้อย่างไร เพราะไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมกับประชาชน และเป็นการเก็บค่าบริการเกินควร รวมทั้ง อยากเห็นตัวเลขโครงสร้างพลังงานว่ามีเกินความจำเป็นเท่าไหร่ และในระยะเร่งด่วน มีแนวทางลดค่าไฟฟ้าให้ยั่งยืนได้อย่างไร
นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า ‘ค่าบริการรายเดือน’ เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ดูเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริการ และคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟ รวมทั้งส่วนของมิเตอร์ จะต้องมีการบำรุงรักษาดูแล ถ้ามิเตอร์เสีย การจ่ายไฟจะได้รับผลกระทบ จึงต้องบำรุงรักษา เพื่อไม่ให้มิเตอร์เสื่อมสภาพเร็ว ซึ่งในส่วนนี้มีค่าใช้จ่าย ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ไปตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่ และได้รับการยืนยันว่า เป็นตัวเลขที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี นายสุพัฒนพงษ์ ยังระบุด้วยว่า เมื่อท่านสอบถามมา ตนจะสอบถามให้อีกครั้ง และอาจให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เชิญคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาชี้แจง เพราะมีหน้าที่ดูแลอัตราค่าบริการที่เหมาะสม