จากมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) ซึ่งเรียกเก็บที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบาง ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ประมาณ 19.66 ล้านราย ประกอบด้วย
จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่ 1-150 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่ 151-300 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์ต่อหน่วย วงเงินช่วยเหลือประมาณ 7,500 ล้านบาทนั้น
แหล่งข่าว กล่าวถึงมาตรการดังกล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวหากดูในรายละเอียดจะพบว่า มีการขึ้นค่าไฟในส่วนของกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟตั้งแต่ 151-300 หน่วยต่อเดือน อีก 25 สตางค์ต่อหน่วย เท่ากับว่ากลุ่มนี้จะต้องจ่ายค่าไฟประมาณ 4 บาทต่อหน่วย ไม่ได้จ่ายราคาเดิมคือประมาณ 3.70 บาทต่อหน่วยเช่นเดียวกับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน
ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อเสนอของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่เสนอต่อ กบง. ขณะเดียวกันยังยกเลิกส่วนลดค่าไฟ 15-75% เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟตั้งแต่ 301-500 หน่วยด้วย เท่ากับว่ามาตรการช่วยเหลือค่าไฟของรัฐบาลครั้งนี้มีการปรับรูปแบบ กลุ่มผู้ใช้ไฟตั้งแต่ 151-500 หน่วยต่อเดือนจะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มแน่นอนในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 แม้จะใช้ไฟเท่าเดิม
สำหรับมาตรการช่วยค่าไฟเดิมของงวดเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2565 ได้ตรึงค่าไฟ 3.70 บาทต่อหน่วยต่อเดือน โดยผู้ใช้ไฟกลุ่มเปราะบาง 1-300 หน่วย รวม 19.6 ล้านครัวเรือน ขณะที่กลุ่มใช้ไฟตั้งแต่ 301-500 หน่วย มีจำนวน 2.1 ล้านครัวเรือน
แต่มติกบง.ล่าสุดนี้ตรึงค่าไฟให้กลุ่มเปราะบาง 0-150 หน่วยต่อเดือน เพียง 14.7 ล้านครัวเรือน ขณะที่กลุ่มใช้ตั้งแต่ 151-300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 4.9 ล้านครัวเรือนค่าไฟจะแพงขึ้นเพราะต้องจ่าย 4 บาทต่อหน่วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้ตั้งแต่ 301-500 หน่วย จำนวน 2.1 ล้านครัวเรือน จะต้องจ่ายค่าไฟในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วยตามราคาปัจจุบัน
รายงานข่าวระบุว่า แนวทางการช่วยค่าไฟที่ กบง.เคาะครั้งนี้คือแนวทางที่ 3 จาก 4 แนวทางที่ กกพ.เสนอ ประกอบด้วย
สาเหตุของมติ กบง.ที่ลดการช่วยเหลือค่าไฟให้กลุ่มเปราะบางและเลิกช่วยประชาชนที่ใช้ไฟไม่ถึง 500 หน่วยต่อเดือน ทั้งที่เป็นมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 นั้น
มาจาก กกพ.มีความเห็นว่า แนวทางการช่วยเหลือค่าไฟกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่ต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือนตามข้อเสนอของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ที่เสนอให้เพิ่มการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยไม่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ(bypass gas)
แทนการจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยกกพ.เห็นว่า ตามกฎหมายไม่น่าจะสอดคล้องกับมติ กพช. เพราะเป็นการลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติไปยังผู้ใช้ก๊าซฯทุกราย ไม่ได้เจาะจงกลุ่มเปราะบางโดยตรง
แต่หาก กบง.จะดำเนินการช่วยรูปแบบเดิมจะต้องเสนอ กพช.ให้มีมติสั่งการ กกพ.อีกครั้ง สรุปคือ กกพ.ไม่คัดค้าน แต่ก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งเรื่องนี้ กบง.ในส่วนของ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) พยายามคัดค้านแล้ว แต่กกพ.ยังยืนยันว่าตามกฎหมายทำไม่ได้
นอกจากจากความเห็นประเด็น bypass gas ของ กกพ.แล้ว ยังพบข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเร่งด่วน เพราะเดิม กพช.ได้กำหนดให้ ปตท. สนับสนุนเงิน 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ 4,000 ล้านบาท และ bypass gas 2,000 ล้านบาท
ขณะที่อีก 1,500 ล้านบาทกระทรวงพลังงานเสนอขอใช้จากงบกลาง 2566 แต่จากความเห็น กกพ.ที่ไม่สามารถได้เงินจากbypass gas 2,000 ล้านบาทได้ ทำให้กระทรวงพลังงานต้องเพิ่มวงเงินของบกลางเป็น 3,500 ล้านบาท ขณะที่งบกลางมีจำกัด ทำให้กระทรวงพลังงานค่อนข้างกังวลกับเรื่องนี้
"มติของกกพ.เกิดขึ้นวันที่ 18 มกราคมช่วงเช้า จากนั้นนำเข้า กบง.ช่วงเย็นวันที่ 18 มกราคม หากกบง.ไม่เห็นชอบตามมติ กกพ. และเลือกเสนอ กพช. จะทำให้กระบวนการช่วยค่าไฟกลับไปเริ่มใหม่ และหากไม่เลือกตามแนวทางที่ กกพ.เสนอ งบประมาณจะยิ่งเกิดปัญหา"
โดยกระทรวงพลังงานต้องการช่วยตามกรณีศึกษา 1 คือ ช่วยเหมือนเดิม 1-500 หน่วย วงเงิน 9,700 ล้านบาท แต่งบกลางไม่พอเพราะต้องใช้สูงถึง 5,700 ล้านบาท เพราะปตท.ไม่สามารถนำเงินมาช่วยได้แล้ว เนื่องจากติดข้อกฎหมายตามที่กกพ.ตั้งข้อสังเกต