ราคาก๊าซหุงต้ม ปตท. วันนี้ ล่าสุดอยู่ที่กี่บาทเช็คที่นี่

03 มี.ค. 2566 | 04:13 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2566 | 04:14 น.

ราคาก๊าซหุงต้ม ปตท. วันนี้ ล่าสุดอยู่ที่กี่บาทเช็คที่นี่มีคำตอบ หลัง กบง. มีมติเห็นชอบให้มีผลตั้งแต่ 1-31 มีนาคม 2566 เผยกราคา LPG ตลาดโลกยังสูงกว่าราคาขายมาก

ราคาก๊าซหุงต้ม ปตท. ล่าสุดอยู่ที่กี่บาท "ฐานเศรษฐกิจ" มีคำตอบ

ก๊าซหุงต้มครัวเรือน หรือแอลพีจี (LPG) ปรับราคาขึ้นอีก 15 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) วัน1 มี.ค.66

การปรับขึ้นดังกล่าวมาจากการประขุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งล่าสุด โดยจะปรับราคาขายปลีก "ก๊าซหุงต้มครัวเรือน" เพิ่มอีก 15 บาทต่อถัง 15 กก. ในเดือนมีนาคม 

ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขยับราคาขึ้นเป็น 423 บาทต่อถัง 15 กก. โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 -31 มีนาคม 2566 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขยับเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคา LPG ตลาดโลกยังสูงกว่าราคาขายมาก โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานใช้กลไกการสนับสนุนราคาของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อุดหนุนในเดือน ก.พ. 2566 ที่ประมาณ 648 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 23.13 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการปรับขึ้นราคาของ กบง. จะช่วยให้กองทุนน้ำมันฯ ลดเงินอุดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 417 ล้านบาท หรือวันละ 13.44 ล้านบาท จากกก.ละ 9 บาท เหลือ กก.ละ 8 บาทกว่า โดยสถานะบัญชีกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันยังคงติดลบ ล่าสุดวันที่ 26 ก.พ. 2566 ที่ 104,012 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชี LPG ที่ติดลบ 46,095 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันที่ติดลบที่ 57,917 ล้านบาท 

“ส่วนตัวก็ต้องการให้ขึ้นราคา เพราะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเยอะและรับไม่ไหวแล้ว จึงควรจะขึ้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็เข้าใจว่ากระทบประชาชนแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีเงินแล้ว จังหวะนี้หากเก็บเงินคืนได้ก็ควรเก็บก่อน เพราะหากการเมืองใหม่มา เดี๋ยวก็ต้องปรับลดราคาตามนโยบายที่หาเสียง ดังนั้น อาจจะขึ้นกก.ละ 1 บาท ก็ไม่น่าเกลียด อีกทั้งตอนนี้เริ่มเข้าเข้าสู่ฤดูที่ราคาแอลพีจีแพงจึงควรรีบเอาเงินคืนมาก่อน” 

ราคาก๊าซหุงต้ม ปตท. วันนี้ ขึ้น 15 บาท ล่าสุดอยู่ที่กี่บาท นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็เริ่มกลับมาแพงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานยังคงติดตามราคาพลังงานที่ยังคงผผวนอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil)วันที่ 27 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 101.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังอยู่ในระดับ 98-99 ดอลลาร์ต่อบาเรล 

ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับขึ้นด้วยเช่นกันที่ขึ้นมาระดับ 35 บาท จากดอลลาร์ละ 32-33 บาท ถือว่าผันผวนมาก เหมือนกับเบนซินที่มีขึ้นและลง แม้ว่า กบง. จะปรับลดค่าการตลาด แต่ผู้ให้บริการน้ำมันก็ไม่สามารถลดราคาได้เนื่องจากปัจจัย ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ยลิตรละ 4.77 บาท วันละ 325.38 ล้านบาท โดยคงราคาดีเซลหน้าสถานีบริการน้ำมันไว้ที่ลิตรละ 34 บาท จากก่อนหน้านี้เก็บลิตรละกว่า 5 บาทในช่วงเดือนธ.ค. 2565 ถึงเดือนก.พ. 2566 สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่เงินกองทุนยังคงติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเงินกู้ 80,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เชิญสถาบันการเงินเข้าหารือประมาณ 6-7 สถาบัน หลายรายเริ่มสนใจเพราะสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ เริ่มดีขึ้น 

แต่บางรายยังกังวลว่าพอมีเงินเยอะจะใช้หนี้เงินกู้ก่อนกำหนด จะทำให้ได้ดอกเบี้ยน้อยเหมือนไม่ได้อะไรเลย โดยจากข้อมูลที่ได้รับทราบ แม้กองทุนน้ำมันฯ ได้เงินกู้มาก็ต้องใช้หนี้ที่ยังค้างอยู่กว่า 80,000 ล้านบาท รวมถึงการลดเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อลดราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานนอกจากต้องบริหารราคาน้ำมันในประเทศแล้ว ยังต้องดูราคาเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม หากราคาน้ำมันในประเทศแพงกว่านักลงทุนก็จะย้ายการลงทุน กระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อก่อนเวียดนามแพงกว่า แต่ตอนนี้เริ่มถูกกว่าไทย ดังนั้น นอกจากจะต้องลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ก็ต้องคำนึงถึงประเทศชาติและเศรษฐกิจด้วย อีกทั้ง วันที่ 20 พ.ค. 2566 นโยบายลดภาษีน้ำมันดีเซลก็จะหมดลง และรัฐบาลจะยังคงต่อมาตรการอีกหรือไม่ก็ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

“มองว่ากองทุนน้ำมันฯ จะกู้เงินงวดใหม่นี้ได้ในเดือนมี.ค. 2566 เพราะดูจากก้อนแรกรวม 3 หมื่นล้านบาท ได้แปลงจากหนี้การค้ามาเป็นหนี้สถาบันทางการเงิน เป็นการชำระหนี้เก่า ที่เหลืออยู่ราว 8 หมื่นล้าน เมื่อครบ 1 ปี วงเงินกู้จะกลับมาที่ 4 หมื่นล้านบาทเท่าเดิม ส่วนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท นั้น ต้องดูว่ากองทุนน้ำมันฯ จะไม่กู้ครบหรือไม่ เพราะตอนนี้กระทรวงการคลังอนุมัติค้ำประกันให้รวม 1.1 แสนล้านบาท” 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าราคาก๊าซหุงต้มได้มีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา 

ที่ผ่านมา กบง.ได้กำหนดแนวทางการปรับแอลพีจีขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อกก. เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย.2565 ส่งผลให้ก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กก. ราคา 318 บาท ปรับขึ้นในเดือนเม.ย.2565 อยู่ที่ 333 บาท เดือนพ.ค.อยู่ที่ 348 บาท เดือนมิ.ย.อยู่ที่ 363 บาท

หลังจากนั้นได้มีมติต่ออายุมาตรการปรับราคาแอลพีจีขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อกก. อีก 3 เดือน ตั้งแต่ก.ค.-ก.ย.2565 ส่งผลให้ก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กก. เดือนก.ค.อยู่ที่ 378 บาท เดือนส.ค.อยู่ที่ 393 บาท เดือนก.ย.อยู่ที่ 408 บาท

และเมื่อเดือนต.ค.2565 กบง.ได้มีมติให้คงราคาก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กก.ไว้ 1 เดือน จะสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.2565 เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับตัวสูงขึ้น