นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวันว่า ต้องรอดูความชัดเจนจากการประขุมว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากมีอีกหนึ่งกระแสข่าวที่ระบุว่าจะยังคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิม
ทั้งนี้ หากเกิดกรณีที่มีการลดกำลังการผลิตจริงก็จะทำให้ปริมาณน้ำมัน (Supply) ตึงตัว ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาน้ำมันขยับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ากลุ่มโอเปกมักจะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวนี้บ่อยครั้ง เมื่อราคาเริ่มลดลงก็จะมีกลไกล หรือวิธีการทำกำไรออกมา เสมือนเป็นการพยายามดันราคาให้สูงขึ้น
"หากเปรียบโอเปกก็จะเหมือนกับเจ้ามือ ที่กำลังเล่นเกมส์การเมือง โดยมีน้ำมันเป็นสินค้า ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง"
อย่างไรก็ดี เวลานี้ราคาแก๊ส LNG เองก็ปรับตัวลดลงมาก ทำให้มีการหันไปใช้ LNG มากขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้า เพราะฉะนั้นโอเปกก็มีความพยายามที่จะทำให้ซัพพลายของทั้งโลกให้ลดลงมา
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมาธิการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กล่าวว่า หากผลการประชุมออกมาเป็นไปตามโอเปกประกาศ แน่นอนว่าย่อมส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยต้องขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำมันจะหายไป แต่ผู้ใช้ยังคงมีเท่าเดิม
"ปริมาณน้ำมันที่จะหายไปในตลาดโลกมีผลแน่นอนกับราคาในประเทศ แต่เชื่อว่าจะไม่ได้ทำให้ราคาขึ้นอย่างรุนแรงในครั้งเดียว โดยจะเป็นการทยอยปรับขึ้น เนื่องจากไม่ได้เป็นวิกฤติเหมือนที่เจอในปีที่ผ่านมา อีกทั้งในช่วงเดือนมีนาคมราคาน้ำมันเองก็ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากไม่ถึง100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอดูความชัดเจนของผลการประชุมเป็นหลัก"