โดยมีบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 20,133.87 ตารางกิโลเมตร และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมครั้งใหม่ในรอบ 16 ปี
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้จัดพิธีลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 จำนวน 3 แปลงไปแล้ว
ทั้งนี้ การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ของประเทศไทย สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงธรรมชาติจากแหล่งภายในประเทศ และการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังนับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการในการช่วยขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจภาคขนส่งรวมถึงธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ตามมาอีกด้วย
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประเมินเบื้องต้นว่า การลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวได้ จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย
สำหรับก๊าซธรรมชาตินั้น ถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด หากในอนาคตมีปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้น จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง ที่จะไปลดปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG จากต่างประเทศที่มีราคาแพง
การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งใหม่นี้ ถูกผลักดันสำเร็จได้ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่กว่าจะใช้เวลาสำรวจจนพบหลุมปิโตรเลียม ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 3-6 ปี ก็คงผ่านพ้นยุครัฐบาลใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดตั้งในตอนนี้ไปแล้ว และกว่าที่จะได้เริ่มผลิตอย่างเป็นทางการ ก็ต้องรอถึงยุครัฐบาลถัดไปอีก เพราะแม้จะพบหลุมปิโตรเลียมที่มีศักยภาพและมีความคุ้มค่าในการผลิต ก็จะต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี ในการก่อสร้างและติดตั้งแท่นหลุมผลิต แท่นผลิตกลาง และแท่นที่พักอาศัย
จึงเรียกได้ว่า จากจุดเริ่มต้นที่การเปิดประมูลคัดเลือก ไปจนถึงการสำรวจ และการผลิตได้จริง ๆ ต้องใช้เวลายาวนานผ่าน 3 รัฐบาลกันเลยทีเดียว ซึ่งแม้ว่าจะต้องรอคอยกันอีกหลายปี แต่ก็ถือเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า เพราะจะช่วยให้ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศที่มีราคาสูง ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงต่อต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน
ปัจจุบันตามข้อมูลเดือนเมษายน 2566 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่าไทยมีแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทะเลและบนบก โดยเป็นในส่วนของการผลิตก๊าซธรรมชาติ 21 แปลง ผลิตก๊าซฯได้ราว 56,362.75 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 10,652 ล้านบาท ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว 1.74 ล้านบาร์เรลต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 4,473 ล้นบาท และมีแหล่งผลินนํ้ามันดิบ 24 แปลง ผลิตนํ้ามันดิบได้ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 6,934 ล้านบาท