นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หรือกกร. ได้ส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถึงแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟทีที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า งวดที่ 3 ในรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 66 แล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากกังวลภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และขีดความสามารถแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยกกร.เห็นว่า ค่าไฟงวดใหม่ ไม่ควรเกินหน่วยละ 4.25 บาท จากงวดปัจจุบัน (พ.ค. - ส.ค.) อยู่ที่หน่วยละ 4.70 บาท
อย่างไรก็ดี กกร. ได้นำข้อเสนอแนวทางปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ งวดที่ 3 ในรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. ขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่าเอฟที ลดลงอีกประมาณหน่วยละ10 สตางค์
ซึ่งกฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในส.ค. 68 , ขอให้บูรณาการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี มอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหา เพื่อสกัดดีมานด์ เทียมจากผู้ส่งสินค้าหลายรายที่เข้ามาจัดหาในตลาด สำหรับนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาดและไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ
โดยจัดหาแอลเอ็นจีล่วงหน้า ราคาเฉลี่ยที่ 14 – 16 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู หากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ราคาแอลเอ็นจี ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลกที่เพิ่มขึ้น
นายอิศเรศ กล่าวอีกว่า ที่สำนักนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดประชาพิจารณ์ค่าเอฟที 3 กรณี อัตรา 6.28 , 4.70 และ4.45 บาท ระหว่างวันที่ 7 – 21 ก.ค. ก่อนที่จะเคาะราคาสุดท้ายอีกครั้ง หากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีแล้ว พบว่า มีหลายประเด็นสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาปรับลดค่าเอฟทีงวดใหม่ได้ เช่น
ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณที่เพิ่มปริมาณจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดือน ก.ค. 66 มีแผนเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือน ธ.ค. 66 จะช่วยลดปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีได้
นอกจากนี้ปริมาณนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ลดลงเหลือ 41% จากเดิมนำเข้าแอลเอ็นจี เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ 47% , ราคาแอลเอ็นจี สปอท ที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 30% จากงวดที่ 2 ในเดือน พ.ค. - ส.ค. ที่ราคาประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ประมาณ 14 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู , ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง , ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริงของแอลเอ็นจี ที่ต่ำกว่าที่เรียกเก็บค่า Ft ทั้ง 2 งวดที่ผ่านมา
และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วงนี้ แต่จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ด้านการเงินมองว่าจะเป็นการอ่อนค่าในระยะสั้นและจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นภายในปลายปีนี้