นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยดูแลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการหนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเหมือนกับว่าปล่อยให้ กฟผ. บริหารจัดการด้วยตนเอง ทั้งที่มีส่วนช่วยเหลือประชาชนเรื่องของค่าไฟ ด้วยการแบกรับภาระหนี้ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 95,777 ล้านบาท
สำหรับประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าวนั้น มองว่าควรที่จะต้องเป็นที่มีความรู้ทางด้านพลังงาน รวมถึงมีความรู้ด้านการจัดการหนี้สิน และการลงทุน
"ตนมองเห็นว่า กฟผ. ไม่ควรที่จะแบกภาระ หรือช่วยเหลือแค่ด้านเดียว แต่ควรที่จะมีคณะทำงานที่เข้าไปช่วย กฟผ. ด้วย"
สำหรับอัตราค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 67 นั้น ล่าสุดนายพีระพันธุ์ ระบุว่า เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรึงค่าไฟงวดแรกปี 2567 ไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบางจำนวน 17.7 ล้านราย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน หรือคิดเป็น 75% ของผู้ใช้ไฟทั้งประเทศ โดยใช้งบกลางปี 2567 กว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น และเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน
ส่วนการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่เหลือ คือ เกิน 300 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป กระทรวงฯ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) วันที่ 13 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการดูแลค่าไฟให้กลุ่มคนดังกล่าว โดยจะไม่ใช่ 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน
อย่างไรก็ดี จะพิจารณาแนวทางสนับสนุน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.การขยายหนี้ออกไปอีก 1 งวด ,2.การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และ3.การกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) จะทำให้ราคาค่าก๊าซธรรมชาติลดลง
"การลดราคาแค่ 1 สตางค์ หรือ 10 สตางค์ ก็ใช้เงินจำนวนมากหลักพันหลักหมื่นล้านบาท เพราะต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติสูง แต่ยืนยันค่าไฟฟ้าจะไม่ถึง 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน"
นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า มาตรการขยายหนี้ กฟผ. ถือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น ขณะนี้มีแผนที่จะเตรียมแก้ปัญหาให้ กฟผ. เพื่อปลดภาระหนี้ ส่วนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ เป็นการปรับโครงสร้างที่จะมีความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย และไม่เป็นการสร้างภาระในอนาคต รวมทั้งการกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท. จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดราคาค่าไฟได้