นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป (EGCO Group) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนปี 67 ประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านการซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) จากกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 6,996 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ทั้งนี้ จะแบ่งเป็นสัดส่วนกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,440 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและในทะเล ไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพและเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง
จากโรงไฟฟ้าทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย ,สปป.ลาว ,ฟิลิปปินส์ ,อินโดนีเซีย ,ออสเตรเลีย ,ไต้หวัน ,สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ โดยเบื้องต้นคาดว่าปีนี้จะสามารถปิดดีลให้ได้อย่างน้อย 3 ดีล
“เอ็กโกไม่มีแผนการเพิ่มสัดส่วนถ่านหิน และแนวทางที่จะไปคือพยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด ซึ่งบริษัทมีสภาพคล่อง และกระแสเงินสดในมือ 2-3 หมื่นล้านบาท”
นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงใช้กลยุทธ์จะมุ่งเน้นการขยายการลงทุนในต่างประเทศทั้งโครงการโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม (Conventional) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable) โดยเน้นร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์เดิม
ด้านโครงการพลังงานลมในช่องแคบไต้หวัน (หยุนหลิน) ขนาดกำลังการผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ครบจำนวน 80 ต้น ได้ภายในปีนี้ หลังจากที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันสามารถติดตั้งได้แล้วจำนวน 45 ต้น และมีการซื้อขาย COD แล้ว 33 ต้น
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (RISEC) ประเทศสหรัฐฯ ขนาดกำลังการผลิตรวม 609 สามารถปิดดีลซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา
รวมถึงการเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ในพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ (Compass Portfolio) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CCGT) จำนวน 3 แห่งในสหรัฐอเมริกา กำลังการผลิต 1,304 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมาร์คัส ฮุก ขนาด 912 เมกะวัตต์ในรัฐเพนซิลเวเนีย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมิลฟอร์ดขนาด 205 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไดตันขนาด 187 เมกะวัตต์ในรัฐแมสซาชูเซตส์
โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวเหล่านี้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว และส่วนไฟฟ้าที่เหลือก็ขายในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) และนิวอิงแลนด์ (ISO-NE)
“ปีนี้คาดว่าจะยังคงเติบโต โดยจะทยอยเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบ เพราะต้องเข้าใจในแง่ของการบลงทุนที่ช่วงแรกพลังงานสะอาดจะยังไม่สามารถสร้างกำไร เอกโกจึงตั้งเป้าปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% จากปัจจุบัน 21% เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ Conventional 70% จากการแสวงหาโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะในต่างประเทศจะยังมุ่งเน้นโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม เนื่องจากยังมีความจำเป็นต่อระบบไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพ”