ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 ก.พ. 2567) มีมติ อนุมัติ 10 รายชื่อ คณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) ชุดใหม่ ภายหลังมีการเปิดรับสมัครตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โดยคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจมี นายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานบอร์ด กฟผ.
สำหรับรายชื่อ บอร์ด กฟผ. ทั้ง 10 ราย ประกอบด้วย
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทั้ง 10 ท่านที่ผ่านการคัดเลือกและเห็นชอบถือเป็นบุคคลที่ล้วนแต่มีความรู้ความสามารถตรงตามภารกิจของ กฟผ. อาทิ ด้านวิศวกร ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย ผู้แทนจากมหาวิทยาลัย ฯลฯ ดังนั้น ขั้นตอนต่อจากที่ครม.อนุมัติ คือการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566
อย่างไรก็ดี บอร์ด กฟผ. จะเชิญ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งบอร์ดชุดที่ผ่านที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566
โดยบอร์ดทั้ง 10 รายจะต้องหารือกับนายเทพรัตน์ โดยเฉพาะหลักการเรื่องการทำงานซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงรับทราบนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ อาทิ การดำเนินการในเรื่องของการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น
"เรื่องสำคัญคือการทำงานของบอร์ดและผู้ว่าฯ กฟผ. จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้ ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายมองว่าหากนับอายุการทำงานปัจจุบันจะทำให้นายเทพรัตน์ ขาดคุณสมบัติเหลือระยะเวลาทำงานไม่ถึง 2 ปีนั้น จะยังคงยึดหลักเกณฑ์การนับอายุในวันที่สมัคร ถือว่ายังมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน"
แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าวยอมรับว่าที่ผ่านมา หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 พร้อมกับมีผู้บริหารเกษียณอายุงานในหลายส่วน ดังนั้น การดำเนินงานภายในจึงไม่ราบรื่นตามไปด้วย โดยเฉพาะการปรับตำแหน่งต่าง ๆ เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารภายในยังต้องอาศัยอำนาจของผู้ว่าฯ มาอนุมัติ พร้อมมอบนโยบายทิศทางการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนในวงเงินที่สูงจะต้องได้รับการอนุมัติโดยบอร์ด กฟผ. ก็ต้องชะลอไปด้วย เป็นต้น