ข่าวดี! ปตท.สผ.ผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ช่วยกดค่าไฟ

20 มี.ค. 2567 | 07:18 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 07:18 น.

ข่าวดี! ปตท.สผ.ผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ช่วยกดค่าไฟ พร้อทเผยมีแผนติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกปีละ 8 แท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีก 300 หลุมต่อปี สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ล่าสุดโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยได้ถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนแผนงานต่อไป ปตท.สผ. มีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกปีละประมาณ 8 แท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกประมาณ 300 หลุมต่อปี โดยในปี 2567 บริษัทจะใช้เงินลงทุนในโครงการ G1/61 เป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ G1/61 เป็นหนึ่งในโครงการของ ปตท.สผ. ที่เป็นหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมาจากการที่ ปตท.สผ. ได้ชนะการประมูลและเป็นผู้ได้รับสิทธิในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจ G1/61 ในทะเลอ่าวไทย ในปี 2561 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 2562 
 

บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินงานทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามแผนงาน โดยได้ปรับปรุงสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ให้มีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยสูงขึ้น รวมถึงติดตั้งแท่นหลุมผลิต (wellhead platform) 12 แท่น เจาะหลุมผลิต (production well) เพิ่มกว่า 300 หลุม 

ข่าวดี! ปตท.สผ.ผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ช่วยกดค่าไฟ

และวางท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้สูงขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้แล้ว เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“การเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 ถือเป็นภารกิจสำคัญของ ปตท.สผ. ก๊าซฯ ในอ่าวไทยถือเป็นแหล่งพลังงานหลักที่รองรับความต้องการใช้พลังงานทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ให้ได้เร็วที่สุด การที่สามารถผลิตได้ถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจะช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ”

ายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติดังกล่าว เป็นการดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามให้มีการบริหารจัดการและเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมอย่างเต็มกำลังให้ได้ปริมาณตามที่กำหนด

รวมทั้งมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

"การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้"