นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท Seaborg Technologies ApS จากประเทศเดนมาร์ก เพื่อศึกษาโอกาสการพัฒนาพลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยี SMR (Small Modular Reactor) ขนาดเล็ก
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดย SMR เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาออกแบบให้เป็นโมดูลาร์ขนาดเล็ก มีความปลอดภัยสูง และที่สำคัญเทคโนโลยี SMR จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในการผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มเติมจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งจะเข้ามาตอบโจทย์การผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2567-2570)
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนั้น ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ ครอบคลุมด้านเทคโนโลยี ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม กฎหมาย ปัจจัยความเสี่ยง การตลาด และการพัฒนาธุรกิจ
รวมถึงแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งและขนาดของหน่วยผลิตไฟฟ้าประมาณ 200-800 เมกะวัตต์ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีระหว่างกัน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งสององค์กรในการดำเนินโครงการหน่วยผลิตไฟฟ้า SMR ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาศึกษาความเหมาะสม ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยราชการ หน่วยกำกับดูแล รวมทั้งภาคสังคมและประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความเข้าใจในระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ
Mr.Klaus Nyengaard ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Seaborg Technologies ApS กล่าวว่า นวัตกรรมด้าน SMR ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ของ GPSC ในการแสวงหาโอกาสในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของระบบการผลิตไฟฟ้าของไทย ให้มีเสถียรภาพและความมั่นคงในระบบการผลิต
การศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี SMR มีความสำคัญอย่างมาก โดยจะทำให้ GPSC เข้าถึงมาตรฐานความปลอดภัยแบบ passive design ซึ่งมีเฉพาะเทคโนโลยี SMR การออกแบบเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก และการจัดการของเสีย ฯลฯ ตามข้อกำหนดขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเป็นไปได้ SMR จะต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนภายในประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งด้านกฎหมาย ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ฯลฯ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย