เปิดไทม์ไลน์รับฟังความเห็นแผน "PDP 2024" ทั่วประเทศ เช็ควัน-ช่องทางที่นี่

07 มิ.ย. 2567 | 00:19 น.

เปิดไทม์ไลน์รับฟังความเห็นแผน "PDP 2024" ทั่วประเทศ เช็ควัน-ช่องทางที่นี่ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้หมดแล้ว เผยมุ่งให้ความสำคัญ 3 ด้าน ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ต้นทุน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง และเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแผน PDP 2024 ประกอบด้วย

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 เปิดไทม์ไลน์รับฟังความเห็นแผน "PDP 2024"  ทั่วประเทศ เช็ควัน ช่องทางที่นี่

  • กลุ่มภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล On-site

วันที่ 13 มิถุนายน 2567

  • กลุ่มภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล On-site
     

วันที่ 17 มิถุนายน 2567

  • กลุ่มภาคกลาง กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ Online

วันที่ 19 มิถุนายน 2567

  • กลุ่มภาคใต้ กลุ่มภาคเหนือ Online

ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางช่องทางออนไลน์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

 

ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 16.00น. ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2567 เวลา 22.00น. ที่ www.eppo.go.th และเฟสบุ๊ก EPPO Thailand

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สนพ. ระบุว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan: PDP 2024) ฉบับนี้ จะให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ 3 ด้าน คือ 
 

  • ด้านเน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) 
  • ด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) 
  • ด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) 

เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่ สนพ. กำลังจัดทำอยู่ นอกจากนี้ ในแผน PDP 2024 จะมีการชี้ใช้เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง จากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) รวมทั้งยังกำหนดเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกกรรมการใช้ไฟฟ้า (Demand response) 1,000 เมกะวัตต์ 

และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) รวมไปถึงจะมีโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณา ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ โซลาร์ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) มีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือก 
 
ส่วนแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ และบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ โดย Gas Plan 2024 ได้ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในระยะยาวจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า

ภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงจาก 4,859 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2567 เป็น 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลง เนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและไฮโดรเจน การใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ลดลงตามปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และการใช้ในภาคขนส่ง ตามจำนวนรถ NGV ที่มีแนวโน้มลดลง