ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการกองทุน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานอาจจะมีการขยายเพดานการควบคุมราคาน้ำมันดีเซลเป็น 35 บาทต่อลิตร จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร ว่า เห็นด้วยกับการที่จะขยายเพดานดังกล่าว เพราะภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันมีมากเกินไป
โดยมีหนี้สะสมเกินแสนล้านมานาน ซึ่งในความเป็นจริงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็ทำไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกแม้ว่าจะมีการปรับขึ้น และลงสลับกันไป แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงส่งผลทำให้ราคาขายปลีกดีเซลในประเทศอยู่ในระดับสูง หากจะควบคุมให้เหลือ 30 บาทต่อลิตรคงเป็นไปได้ยาก
ดังนั้น จึงมีทางเลือกทางเดียวคือให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบจำนวนมาก เพราะขนาดขยายเพดานขึ้นไปแล้ว กองทุนน้ำมันฯปัจจุบันก็ยังมีหนี้เพิ่มอยู่ แต่การเป็นหนี้ก็อยู่ในอัตราที่ลดลง เพราะฉะนั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวจึงค่อนข้างเห็นด้วยว่าควรที่จะมีการปรับตามสถานการณ์ได้
"หากราคาน้ำมันในตลาดลดลง ก็สามารถปรับลดเพดานลงได้เช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบาทของกองทุนน้ำมันฯในการรักษาระดับสเถียรภาพในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาสภาพคล่องไม่ให้ติดลบมากจนเกินไป"
หากถามว่าควรยกเลิกการคุมราคาน้ำมันดีเซล และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกลของตลาดหรือไม่ คงต้องยอมรับว่าในขั้นนี้คงทำได้ยาก เนื่องจากดีเซลเป็นชนิดน้ำมันที่มีความสำคัญทางด้านขนส่งสินค้า หรือผู้โดยสาร อีกทั้งยังมีปริมาณการใช้ที่ค่อนข้างมาก หรือเรียกว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซิน หรือชนิดอื่น
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงยังคงต้องใช้วิธีการคุมเพดานไว้ และมีการปรับเพดานตามสถานการณ์ต่อไป เพื่อที่จะรักษาสถานการณ์ทางด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหากปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้น
อย่างไรก็ดี หากถามว่าจะต้องคุมราคาน้ำมันดีเซลแบบนี้ตลอดไปหรือไม่นั้น ดูท่าแล้วมองว่าอาจจะต้องเป็นไปในรูปแบบดังกล่าวนี้ หากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังเป็นไปในลักษณะอย่างปัจจุบัน จากเหตุการณ์สู้รบกันทั้งในตะวันออกกลาง ยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั้งราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคุมราคาไว้ในระดับหนึ่ง
"ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการควบคุมราคาน้ำมันทุกชนิด เพียงแต่จะมีการคุมมากหรือน้อยที่แตกต่างกันไปเท่านั้น เช่น น้ำมันเบนซินแม้ว่าจะไม่ได้คุมในราคาขายปลีก แต่ก็ดูเรื่องของผลตอบแทนที่เป็นกำไร หรือค่าการกลั่นในระดับหนึ่ง โดยเรียกว่ารัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแลอยู่ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากจะใช้วิธีควบคุมโดยการตั้งระดับเพดานสำหรับน้ำมันดีเซล"
หากไม่ใช้กองทุนน้ำมันฯ ก็มีเพียงแค่การปรับลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 5-6 บาท ซึ่งถือว่าจัดเก็บค่อนข้างสูงเข้ามาช่วย แต่กับสถานการณ์ในปัจจุบันรัฐบาลเองก็คงไม่ยอมปรับลดลงมาให้ เพราะต้องการรายได้จากภาษีเข้ามาใช้ในหลากหลายโครงการที่จะต้องใช้เงินจำนวนมาก
ศ.ดร.พรายพล กล่าวอีกว่า หากจะปรับลดภาษีจริง เพื่่อช่วยราคาน้ำมันดเเซล คงต้องมีการปรับทั้งองคาพยพของภาคการคลัง เพื่อให้สามารถลดการใช้จ่าย ลดการขาดดุล ลดหนี้ของรัฐบาล ภาษีดังกล่าวเหล่านี้จึงจะปรับลดลงได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร
"การปรับลดภาษีดังกล่าวนั้น ประเด็นสำคัญคือจะต้องลดลงแบบถาวร ไม่ใช่แบบชั่วคราว โดยภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็อาจจะต้องมาดูกันใหม่ว่า ส่วนหนึ่งอาจจะต้องเป็นภาษีคาร์บอน ขณะที่อีกส่วนก็จะต้องเป็นภาษีที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาล ซึ่งจะต้องมาทบทวนอัตราการจัดเก็บว่าจะแยกกันเก็บหรือไม่ระหว่างส่วนที่เป็นภาษีคาร์บอนกับส่วนที่เป็นรายได้ของรัฐ"
ศ.ดร.พรายพล กล่าวอีกว่า ในเวลานี้คงทำได้แค่ขยายเพดานควบคุมราคาน้ำมันดีเซลออกไปก่อน แต่หากสถานการณ์ย่ำแย่ หรือเลวร้ายแบบขั้นสุดก็คงต้องพิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงชั่วคราวอย่างที่เคยทำมาในอดีต เพื่อช่วยกองทุนน้ำมันฯที่สภาพคล่องไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าใดนัก