“พิชัย”จี้เจรจา OCA แก้ค่าไฟแพง ล่าช้าประเทศเสียประโยชน์

24 ส.ค. 2567 | 09:26 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2567 | 09:47 น.

ครบ 1 ปี กับการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง และได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะดำเนินการทันที่ หลังจากได้เข้ามาบริหารประเทศแล้ว

แต่ถึงวันนี้ประชาชนทุกภาคส่วนก็ยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงอยู่ดี และมีแนวโน้มจะต้องจ่ายแพงเพิ่มขึ้นอีก หลังจากสิ้นสุดมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาทต่อหน่วยภายในสิ้นปี 2567 นี้

ปัญหาของค่าไฟฟ้าแพง หลัก ๆ มาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในตลาดโลกมีความผันผวน ยากต่อการควบคุม ขณะที่บ้านเราต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ผลิตอยู่ในอ่าวไทยและจากเมียนมาเวลานี้นับวันจะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ต้องพึ่งการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี จากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาชดเชยความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องและมีปริมาณมากขึ้นทุกปี

ดังนั้น การจะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงได้ จึงจำเป็นต้องแก้ที่ต้นทุนของโครงสร้างค่าไฟฟ้าเป็นหลัก นั่นหมายถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่ประเทศจัดหาได้เองในราคาถูก ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้ามาแบกรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิง จนปัจจุบันประชาชนกลายเป็นหนี้ค่าเอฟทีที่ต้องจ่ายคืนนภายหลังถึง 1.12 แสนล้านบาท

“พิชัย”จี้เจรจา OCA แก้ค่าไฟแพง ล่าช้าประเทศเสียประโยชน์

ทั้งนี้ แหล่งราคาพลังงานราคาถูกที่มีความเป็นไปได้ ทุกฝ่ายก็มองไปถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Areas–OCA) ที่ประเมินกันว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ นำมาป้อนความต้องการใช้ก๊าซฯได้ในราคาถูกและมีปริมาณมากพอที่จะใช้ไปได้ในระยะยาว

แม้แต่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เล็งเห็นความสำคัญของ OCA โดยได้หยิบยกขึ้นมากล่าวไว้หลายเวทีที่ถูกเชิญไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นงานในวาระแห่งการสถาปนา 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ล่าสุดในงาน “ถอดรหัส…โอกาสเศรษฐกิจประเทศไทย” จัดโดยเดลินิวส์ ได้กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า หากสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มาใช้ได้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพราะมีวัตถุดิบเป็นของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ในอ่าวไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติผลิตอยู่ได้ประมาณ 2,200 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือต้องนำเข้าจากเมียนมาและนำเข้าในรูปแบบแอลเอ็นจี และจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) เพื่อมาป้อนความต้องการใช้ก๊าซอยู่ที่เกือบ ๆ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

OCA จึงถือเป็นแหล่งสำคัญ เพราะมีปริมาณก๊าซพอ ๆ กับที่มีในอ่าวไทย ถ้าสามารถเจรจาได้ข้อยุติ และสามารถผลิตก๊าซขึ้นมาใช้ได้อีกครั้งในช่วง 25 ปี ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 3.25 บาทต่อหน่วยได้ เพราะพื้นที่ OCA ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ การขุดเจาะที่มีความลึกเพียง 2 กิโลเมตร ลงทุนไม่สูงมากนัก ทำให้ไทยแข่งขันกับเวียดนามได้ ขณะที่มูลค่าจากการคำนวณราคาขายปิโตรเลียมในตลาดน่าจะอยู่ราว 20 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเป็นขายราคาที่มีการตกลงกันก็จะประมาณ 12 ล้านล้านบาท

ดังนั้น OCA จะต้องมีการเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อนำก๊าซขึ้นมาใช้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ 20 ปี ทั่วโลกอาจจะไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ OCA ก็จะไร้ประโยชน์จากนำก๊าซที่มีราคาถูกมาใช้

ส่วนการจะนำก๊าซจากแหล่ง OCA มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าระยะยาวให้กับประเทศได้เมื่อไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสามารถเริ่มเจรจากับทางรัฐบาลกัมพูชาได้เมื่อใด เพราะเกือบตลอด 1 ปีที่บริหารประเทศมา ยังไม่เห็นรัฐบาลขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee–JTC) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกลไกในการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา ตามข้อตกลงที่มีการทำเอ็มโอยูกันไว้เมื่อปี 2544 ทั้งที่เรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย และได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว เช่นกัน

คอลัมน์ Circular Economy ชีวิตดี เริ่มที่เรา

โดย กรีนเดย์

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,021 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567