“พีระพันธุ์” เล็งใช้โมเดลพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน

06 พ.ย. 2567 | 02:58 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 02:58 น.

“พีระพันธุ์” เล็งใช้โมเดลพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน เตรียมเดินหน้ายกร่างกฎหมายเป็นกฎหมายปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรม 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า มีแนวคิดจะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาล ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้ โดยเล็งเห็นแนวทาง ของการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาล

เพราะหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน จะได้รับผลกระทบจึงเตรียมยกร่างกฎหมาย เหมือนพ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรม 

โดยจะร่วมกันทำงานระหว่างสองกระทรวงเพื่อรองรับเมื่อเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องถูกยกเลิกการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ฯ ในปี 2569 คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะมีคณะทำงาน ซึ่งชุดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมและพลังงานทำงานด้วยกัน โดยพยายามจะเร่งออกกฎหมายให้เป็นทางออกของกองทุนน้ำมันฯ ต่อไป
 

สำหรับกฎหมายอ้อยและน้ำตาลซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยทำให้การผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย สอดคล้องกันชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายร่วมมือกับทางการตั้งแต่ผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นระบบที่ดีเกษตรกรพอใจได้ผลประโยชน์ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมองอนาคตการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยาน แบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต หากความต้องการสูงขึ้นจะสามารถดูดซับวัตถุดิบอย่างปาล์มน้ำมันไปใช้เพิ่มขึ้น 

ซึ่งการวางแนวทางพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพต้องวางฐานให้เข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างประเทศมาลงทุน
 

ทั้งนี้ แม้ว่าปี 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะเลิกชดเชยราคา เชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล แต่ไม่ได้หมายความว่า จะยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ราคาขายปลีกน้ำมันจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ อยู่ในระดับสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเท่าตัวยิ่งผสมยิ่งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมวัตถุประสงค์การนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมในน้ำมัน เพราะมีราคาถูกนำมาผสมเพื่อลดราคาน้ำมันลง

“ในความเป็นจริงแล้วจุดประสงค์ของการนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล เอทานอลผสมในเบนซินไม่ได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสม เพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ แต่เนื่องจากการอุดหนุน เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่าเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ความจริงเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่า กระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็หลีกหนีไม่ได้เนื่องจากนโยบายนี้ได้ปล่อยดำเนินการมาเนิ่นนาน และไม่มีหน่วยงานอื่นช่วยคิดแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องพยายาม ช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกร”