นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนาพลังงานราคาถูก ทางรอดเศรษฐกิจไทย จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า ปตท.เป็นผู้ประกอบการที่เป็นส่วนหนึ่งภายใต้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยในช่วงแรกปตท.มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจปิโตรเลียม ด้วยการใช้แหล่งทรัพยากรภายในประเทศ
ต่อมาในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปตท.มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการนำแหล่งทรัพยากรจากต่างประเทศ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว LNG เพื่อเข้ามาเสริมความมั่นคงในประเทศ
นายวุฒิกร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันปตท.ได้เปลี่ยนบทบาทมากขึ้นจากการมีพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งในระหว่างนี้มีผู้ประกอบการหลายรายเกิดการแข่งขันมากขึ้น ปตท.จึงเพิ่มบทบาทที่ทำให้เกิดความมั่นคงมีราคาที่เป็นธรรม ด้วยการดำเนินการธุรกิจพลังงานครบวงจร ถือว่าบริษัทเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ด้วย
ขณะเดียวกันปตท.ยังมีการขยายธุรกิจพลังงานครอบคลุมการลงทุนแก๊สธรรมชาติเหลว LNG รวมถึงการขยายโครงข่ายพลังงานที่เพิ่มขึ้น เช่น ระบบท่อส่งแก๊ส ,สถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ฯลฯ หากผู้ประกอบการรายใดให้ความสนใจสามารถเข้ามาใช้ได้ ซึ่งจะมีกลไกการเปิดเสรี
"เราอยู่ในธุรกิจพลังงาน นอกจากราคา,เรื่องของความมั่นคงแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับฟอสซิล ฟิวด์ ในการขับเคลื่อนลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และเน็ตซีโร่ด้วย" นายวุฒิกร กล่าว
ขณะที่บทบาทการจัดหาพลังงานในอนาคต พบว่ามีผู้ประกอบการให้ความสนใจก๊าซธรรมชาติเหลว LNG มากขึ้น ซึ่งควรทำให้เกิดกลไกความเสรีครบทั้งวงจร หากต้องการให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว LNG อยู่ในระดับทรงตัวควรทำสัญญาแบบระยะยาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการด้วย
นอกจากนี้ยังมองว่าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ยังมีความสำคัญ ซึ่งมีข้อดีในระหว่างที่ Renew ยังเติบโตไม่เต็มที่ โดยปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว LNG อยู่ที่ 480 ล้านตันต่อปี และคาดว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว LNG เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 800 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานสะอาดที่ช่วยเสริมการเติบโตของ Renew ที่มีราคาสมเหตุสมผล
นายวุฒิกร กล่าวต่อว่า หากไทยสามารถหาก๊าซธรรมชาติ LNG ในช่วงแนวท่อส่งแก๊สของประเทศเพื่อนบ้านได้ จะทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศและมีราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น และมีราคาต้นทุนที่ถูกลงได้
ส่วนประเด็นมี่รัฐบาลไทยและกัมพูชาจะมีการเจรจาลงทุนร่วมกับกัมพูชา ในพื้นที่พัฒนาการแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียมผ่านMOU 44 นั้น มองว่าไทยมีพื้นที่ข้อได้เปรียบหลายเรื่องทั้ง โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และระบบท่อต่างๆ อีกทั้งมีรูปแบบความร่วมมือที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการผลิตท่อใหม่หรือการจ้างผลิตท่อ ซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนในราคาต่ำสุด
"เมื่อพิจารณาเรื่องพลังงานเราไม่สามารถรู้ว่าในอนาคตจะได้แหล่งพลังงานธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งเราควรมีทางเลือกสำรอง หากไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เชื่อว่าการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ยังคงเเป็นทางเลือกที่สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที" นายวุฒิกร กล่าว
อย่างไรก็ตามหากไทยได้แหล่งผลิตปิโตรเลียมมาถือเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานธรรมชาติเพิ่มขึ้น เมื่อแหล่งพลังงานถูกนำมาใช้จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ถือว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ