เปิดความจริงอีกด้าน "กฟผ." ใช้ "วิธีพิเศษ" จัดซื้อจัดจ้างแม่เมาะ 7.2 พันล้าน

28 พ.ย. 2567 | 02:26 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2567 | 02:26 น.

เปิดความจริงอีกด้าน เหตุ กฟผ. ใช้ "วิธีพิเศษ" จัดซื้อจัดจ้างขุด-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ 7.2 พันล้าน หลัง "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" สั่ง กฟผ. ระงับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามสัญญาที่ 8/1

จากกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีคำสั่งด่วนที่สุดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดย "วิธีพิเศษ" ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ที่บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลงานมูลค่าสัญญา 7,170 ล้านบาท ไว้ก่อน หลังจาก ITD ยื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรม จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับรูปแบบการประมูลโดยวิธีพิเศษดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ผิด หรือเอื้อประโยชน์ต่อรายใดรายหนึ่งหรือไม่นั้น

แหล่งข่าวระดับสูงวงการพลังงาน ระบุว่า ที่ต้องใช้วิธีพิเศษ เพราะเป็นการทำงานในพื้นที่สัญญาที่ 8 และ 9 เดิม ซึ่งเป็นงานที่เจ้าเดิมทั้ง 2 รายดังกล่าวทำงานอยู่แล้ว หากเป็นรายอื่นจะเข้าไปทำงานลำบาก เนื่องจากมีงานที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ เรียกว่าเป็นงานที่ทำอยู่ และต้องทำต่อเนื่อง
 

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อประมาณปี 2565 รัฐบาลมีการประกาศยืดระยะเวลาการใช้ถ่านหินของเหมืองแม่เมาะออกไป เนื่องจากก๊าซธรรมชาติมีราคาแพงมาก มีผลทำให้สัญญาเดิมของเหมืองแม่เมาะที่เคยมีถ่านหินไม่เพียงพอ จึงมีการดึงถ่านหินอนาคตมาใช้ ทำให้ถ่านหินที่มีอยู่ในพื้นที่สัญญา 8 และ 9 เดิมไม่เพียงพอ จึงต้องมีการขยาย หรือจ้างเพิ่ม

สำหรับการจ้างเพิ่มเป็นการจ้างบนพื้นทื่สัญญา 8 และ 9 โดยเป็นพื้นที่ที่รายอื่นเข้าไปจะทำค่อนข้างยากมาก และเนื่องจากเป็นงานค่อนข้างใหญ่ ดังนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีศักยภาพ และเคยผ่านการทำงานประเภทดังกล่าวมาก่อน เนื่องจากไม่สามารถรอได้ จะต้องเริ่มใช้ถ่านหินโดยด่วน 

"ดังนั้น จึงต้องให้ผู้ที่เคยทำงานอยู่ และทำได้จริงในพื้นที่ จึงใช้เป็นวิธีพิเศษแบบแข่งขัน ไม่ได้พิเศษแบบระบุเจ้าเดียว นี่จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดจึงไม่ได้เป็นการเปิดประมูลแบบทั่วไป"
 

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการเปิดประมูลดังกล่าวไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้รายใดรายหนึ่งอย่างแน่นอน แต่เห็นว่า กฟผ. เองก็ยินดีที่จะรับการตรวจสอบ โดยล่าสุดได้มีการประสานกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ช่วยเข้ามาดูเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อพิสูจน์ความโปร่งใสในขั้นตอนของการอุทรณ์ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วันตามระเบียบ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ฐานเศรษฐกิจสืบทราบในเบื้องต้นพบว่า กลางปี 2568 จะมีอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ จะใช้วิธีการประมูลแบบทั่วไป