นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรและลดฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยการเดินหน้าพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอาคารจอดรถตามแนวสายทางรถไฟฟ้าของ รฟม. ทุกแห่ง ให้มีความพร้อม สามารถรองรับและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม
ในปัจจุบัน รฟม. ได้นำเทคโนโลยีตรวจสอบช่องจอดรถว่างอัจฉริยะผ่านกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูง (Camera-based Parking Guidance System) มาติดตั้งในอาคารจอดรถของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) จำนวน 3 แห่ง
ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นหาช่องจอดรถว่าง ได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย
ขณะที่เครื่องค้นหารถยนต์ที่จอด (find my car) ด้วยเลขทะเบียนรถ สามารถใช้งานได้ทั้งเครื่อง Kiosk ภายในอาคารจอดรถและผ่านแอปพลิเคชัน MRTA Parking อีกทั้งยังมีจอประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ อาทิ สภาพการจราจรโดยรอบอาคารจอดรถ สภาพอากาศ ค่าฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
นายวิทยา กล่าวต่อว่า รฟม. ยังได้ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า MEA EV แห่งใหม่ ที่อาคารจอดรถ 3 ชั้น สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและสนับสนุน การใช้พลังงานสะอาดตามนโยบายของประเทศ ปัจจุบัน รฟม. มีจุดให้บริการ MEA EV บริเวณอาคารและลานจอดรถของ รฟม. จำนวน 7 แห่ง ดังนี้
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จำนวน 3 แห่ง
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จำนวน 3 แห่ง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต จำนวน 1 แห่ง ได้แก่
นอกจากนี้ รฟม. ยังตระหนักถึงการสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้บริการด้วยการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการ โดยได้ติดตั้งระบบกั้นที่จอดรถอัตโนมัติสำหรับช่องจอดภายนอก เพื่อแก้ปัญหาการจอดรถเกินเวลาที่กำหนด ในช่องจอดรถสำหรับ รับ-ส่งผู้โดยสารรถไฟฟ้า (Kiss and Ride) ซึ่งกำหนดให้จอดได้ไม่เกิน 15 นาที
อย่างไรก็ตามหากจอดเกินเวลาที่กำหนด จะมีค่าบริการจอดรถ 50 บาทต่อชั่วโมง รวมถึงได้จัดทำระบบกั้นช่องจอดรถสำหรับผู้พิการ
สำหรับผู้ใช้บริการจะต้องแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวคนพิการก่อน ระบบจึงจะอนุญาตให้นำรถเข้าจอดได้ เนื่องจากที่ผ่านมามักประสบปัญหาบุคคลทั่วไปนำรถมาจอดในพื้นที่ดังกล่าว และส่งผลให้ไม่มีช่องจอดสำหรับผู้พิการเพียงพอเมื่อมีผู้พิการเข้ามาใช้งานจริง ได้เริ่มนำร่องใช้ที่อาคารจอดรถ 9 ชั้น สถานีลาดพร้าวเป็นแห่งแรก