นายบัณฑิต ธรรมประจําจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยถึงประเด็นการเพิ่มงบประมาณลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ประมาณ 63,028 ล้านบาท ที่บริษัทฯจะใช้ในการดําเนินการก่อสร้าง บริษัทฯมีแผนจัดหาเงินทุนประกอบด้วย
ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่าไม่มีแผนการเพิ่มทุน จากการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างโครงการในครั้งนี้แต่อย่างใด
สำหรับค่าเสียหายที่ต้องขออนุมัติเพิ่ม ถือเป็นความอ่อนไหวมาก ยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่แล้วเสร็จในสัญญาปี2568 ดังนั้น จึงยังทำอะไรไม่ได้ แต่จะยังคงใช้สิทธิ์ตามกรอบของกฏหมายแน่นอนเพื่อรักษาผลประโยชน์บริษัทและผู้ถือหุ้น สิ่งไหนที่ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดเราก็จะไม่ทำ อีกทั้งการดำเนินการบังคับใช้สิทธิ์ต้องทำในขั้นตอนต้องรอบคอบในสัญญาซึ่งมีความซับซ้อน เป็นสัญญาที่มีมาตรฐานสากล ใจร้อนไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ทำแล้วและก็ต้องทำต่อไป และขออนุมัติงบเพราะจำเป็นที่ผู้ถือหุ้นจะอนุมัติ
"ปี 68 หากผู้รับเหมาหลักไม่สามารถทำตามสัญญาได้ก็จะเดินตามสิทธิ์และการหาผู้รับเหมาใหม่เป็นเรื่องในอนาคต เมื่อดูว่าไม่สามารถไปต่อกับผู้รับเหมาหลักในปัจจุบัน เพื่อรักษาประโยชน์บริษัทและผู้ถือหุ้น และต้องทำตามสัญญาแต่จะอย่างไรก็ต้องเตรียมใช้เงิน ทั้งผู้รับเหมาหลัก และรับช่วงต่อตามขั้นตอนจึงตั้งกรอบวงเงินไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นตามกรอบระยะเวบลาโครงการแล้วเสร็จปี 2571 เท่านั้น หากทำได้เร็วก็จะไม่ต้องใช้เงินตามจำนวน"
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มั่นใจว่างบประมาณที่ขอเพิ่มเติมเพียงพอต่อการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จ โดยได้ศึกษาและประเมินร่วมกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้วยความระมัดระวังว่าสามารถดําเนินโครงการนี้ได้ตามงบประมาณที่วางไว้ ซึ่งจะบริหารจัดการงบประมาณให้ดีที่สุด
อีกทั้งจากการศึกษาและประเมินของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุนระดับโครงการ ในปัจจุบันจะลดลงจากการประเมินในช่วงการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุนของกิจการ เมื่อโครงการเสร็จจะทําให้ไทยออยล์มีผลประกอบการทางการเงิน ทั้งในส่วนรายได้ ผลกําไรและฐานะทางการเงินดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทฯและผู้ถือหุ้นในระยะยาว
ส่วนการก่อสร้างโครงการฯที่ต้องเลื่อนออกไปกว่า 3 ปี เป็นผลมาจากการดําเนินงานขั้นตอนที่เหลือเป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชื่อมต่อระบบของโครงการฯ ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ดังนั้นก่อนเปิดดําเนินการ จึงต้องทําการทดสอบระบบจนกว่าจะมั่นใจว่าสามารถเปิดดําเนินการได้ตามมาตรฐานที่กําหนดไว้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ การก่อสร้างหน่วยกลั่นใหม่ ที่ทําหน้าที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนนํ้ามันเตาและยางมะตอยให้เป็นน้ำมันอากาศยานและดีเซลไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนด เนื่องจากปัญหาการหยุดงานของกลุ่มบริษัทรับเหมาช่วงอันเนื่องมาจากไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากผู้รับเหมาหลัก UJV ทําให้การดําเนินโครงการต้องสะดุดจนต้องปรับระยะเวลาดําเนินโครงการออกไป
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดดังกล่าว บริษัทฯ ได้พยายามหาทางแก้ไขเพื่อให้การดําเนินงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปให้แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถสรุปเวลาให้แน่ชัดขึ้นในปี 2568
"ไทยออยล์ถือเป็นผู้นำโรงกลั่นในไทยและอาเซียน ปัจจุบันมีกำลังการกลั่นกว่า 275,000 บาร์เรลต่อวัน และจะขยายเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อให้เป็นผู้นำในอาเซียนต่อไปจะต้องพัฒนาโรงกลั่นให้เข้าสู่เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ การลงทุนในการเพิ่มมูลค่าจะช่วยลดต้นทุนการกลั่นตอบโจทย์ความยั่งยืนในอนาคตด้วย"
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ อย่างมีนัยสําคัญ เนื่องจากแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมส่วนใหญ่มาจาก เงินสดคงเหลือ กระแสเงินสดจากการดําเนินงาน และการกู้ยืม ดังนั้นบริษัทฯยังคงพิจารณาจ่ายเงินปันผลตามนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 25% ของกําไรสุทธิของงบการเงิน ภายหลังจากการหักทุนสํารองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ และตามกฏหมายได้
นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าสูง บริษัทฯ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ในการตรวจรับงานและการจ่ายเงินโครงการฯ ต้องเป็นไปตามหลักสากลและเงื่อนไขในสัญญา มีการตรวจสอบความถูกต้องทั้งในส่วนปริมาณงานและคุณภาพงานจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน รวมทั้งจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างเป็นผู้ประเมินและตรวจรับงาน และจัดตั้งคณะกรรมการกํากับดูแลโครงการฯ ให้การดําเนินการเป็นไปตามหลักสากลในการบริหารโครงการขนาดใหญ่