thansettakij
“TDRI” แนะไทยเร่งทำตลาดไฟฟ้าเสรี หลังเสี่ยงกระทบส่งออก-ทุนต่างชาติหนี
energy

“TDRI” แนะไทยเร่งทำตลาดไฟฟ้าเสรี หลังเสี่ยงกระทบส่งออก-ทุนต่างชาติหนี

    “TDRI” แนะไทยเร่งทำตลาดไฟฟ้าเสรี หลังเสี่ยงกระทบส่งออก-ทุนต่างชาติหนี พร้อมเสนอวิธีรีบเปิดสิทธิให้เอกชนเชื่อมต่อระบบสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า คิดค่าธรรมเนียมสอดคล้องความต้อวการ

นายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) เปิดเผยถึงข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางในการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าให้เป็นแบบเสรี ด้วยพลังงานสะอาด ว่า การจะทำตลาดไฟฟ้าเสรีอย่างเป็นระบบได้นั้น ภาครัฐต้องคำนึงถึง 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 

  • เร่งเปิดสิทธิให้เอกชนเชื่อมต่อระบบสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า โดยดำเนินการเป็นระยะ ๆ ทยอยเริ่มจากเปิดสิทธิให้กับภาคส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM และภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด 100% (RE 100) ภายในปี พ.ศ. 2573
  • การคิดค่าธรรมเนียมเชื่อมต่อสายส่ง ต้องสอดคล้องกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดพลังงานที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยในส่วนของต้นทุนระบบโครงข่าย (Wheeling Charge) ควรมีติดตามและทบทวนการคำนวณต้นทุนของระบบทุก 3-5 ปี เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ในระยะแรกควรมีการคิดต้นทุนของระบบที่ไม่ซับซ้อน โดยขึ้นกับระยะทางเป็นหลักและปรับเป็นการเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโครงข่าย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเอกสารประกอบการนำเสนอ)

“TDRI” แนะไทยเร่งทำตลาดไฟฟ้าเสรี หลังเสี่ยงกระทบส่งออก-ทุนต่างชาติหนี “TDRI” แนะไทยเร่งทำตลาดไฟฟ้าเสรี หลังเสี่ยงกระทบส่งออก-ทุนต่างชาติหนี

ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องขยับเข้าสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี ซึ่งหากไทยไม่เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีเพื่อเร่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด จะเผชิญกับผลกระทบใน 3 ด้าน ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

โดยในด้านเศรษฐกิจ การไม่เปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการได้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดไม่เพียงพอ ซึ่งกระทบต่อไปยังต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าผ่านโครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariffs (UGT) ในราคาที่มีต้นทุนสูงกว่าไฟฟ้าทั่วไป

นอกจากนี้ การที่ไทยไม่สามารถจัดสรรไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากพอ ยังกระทบต่อการส่งออก ตามกลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ทำให้ผู้ส่งออกต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอนซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

อีกทั้งหากไทยยังไม่เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด อาจทำให้ประเทศสูญเสียการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติถึง 45% ของมูลค่าการลงทุนรวมจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนในไทยรวมกว่า 8.7 แสนล้านบาท (ปี 2561-2566) 

รวมถึงสูญเสียโอกาสดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องพึ่งพาพลังงานสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีมูลค่าถึง 6.9 แสนล้านบาท หรือ 48% ของมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

ถ้าไทยมีการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจะส่งเสริมให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับประเทศ เป็นการช่วยปิดความเสี่ยงจากการถอนการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้