OECMS โอกาสภาคเอกชน กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่คาร์บอน

29 ต.ค. 2565 | 03:19 น.

โอกาสใหม่ของภาคเอกชนไทย กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หลังเข้าร่วมและผ่านเกณฑ์สู่ OECMS ภาครัฐเตรียมให้อินเซนทีฟ ทางด้านภาษี ขณะที่พื้นที่เมื่อผ่านเกรฑ์ จะได้เข้าไปอยู่ในแผนที่โลกด้านคาร์บอน

นอกจากการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) หรือ COP27 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ เมืองชาร์ม เอล ชีค ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 นี้ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่น่าติดตาม คือ โครงการ 30:30 ซึ่งเป้าหมายโลก ที่จะมีการประชุมกันที่อียิปต์ ในเดือนธันวาคม 2565
 

“ศิริพร ศรีอร่าม” กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Blue Renaissance และสมาชิกประเทศไทย IUCN Commission on Education and Communication (CEC) กล่าวว่า การประชุมเป้าหมาย 30:30 จะมีขึ้นเพื่อกำหนดเป้าหมายทางชีวภาพของโลก ซึ่งนักวิจัยประเมินว่า ปัจจุบันโลกของเรามีพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในน้ำและบนบกที่ไม่ถึง 16% ในทะเลยิ่งน้อยมีแค่ 8%

“เขาเลยบอกว่า หลังธันวาคมนี้ เราจะมาอนุรักษ์พื้นบนบก 30%และทะะล 30% ซึ่งมันจะแตกต่างจากเมื่อก่อน ที่ว่า พื้นที่อนุกรักษ์ ที่เคยเป็นแค่พื้นที่อุทยาน พื้นที่ป่า หรือพื้นที่ที่ภาครัฐดูแล แต่หลังจากปลายปีนี้ จะมีพื้นที่เอกชน หรือพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง จะสามารถขึ้นทะเบียน OECMS ได้”
 

พื้นที่ OECMS หรือ Other effective area-based conservation measures เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ใช่พื้นที่คุ้มครอง ได้รับการบริหารจัดการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดย คำนึงถึงการบริการของระบบนิเวศและคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ซึ่งขณะนี้มีประเทศกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมรวมทั้งไทยด้วย

ถ้าเป้าหมายโลกออกมาแล้ว ปีหน้า เอกชนในฐานะที่มีพื้นที่ส่วนตัว จะสร้างพื้นที่ให้เข้าเป้าหมายนั้นจะต้องทำอย่างไร ตรงนี้ ถือเป็น โอกาสการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมโยงกับคาร์บอนมาก เพราะถ้าเราปลูกป่าอย่างเดียวเพื่อให้ได้คาร์บอน มันมีความเสี่ยงมาก ถ้ามีโรคระบาดป่านั้นอาจจะหายไปทั้งป่าเลยก็ได้ แต่ถ้าเราสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ก็จะช่วยได้เยอะ


สำหรับประเทศไทย ขณะนี้พื้นที่อนุรักษ์ความหลลากหลายของทะเลไทยมีแค่ 10% สผ. กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง จะมีการจัดประชุม ในวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2565 นี้ เพื่อพูดคุยกันเรื่องพื้นที่ OECMs ถ้าที่ไหนขึ้นทะเบียนได้ พื้นที่นั้นนอกจากจะได้เข้าไปอยู่บนโกลบอลแมปแล้ว โอกาสต่อไป สผ. กำลังทำ พ.ร.บ. เพื่อให้อินเซนทีฟ ให้สิทธิทางด้านภาษีกับผู้ที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ต่อไป 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565