สำหรับอาเซียน สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 รองจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา และมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ถึง 10%
“ดร. คิม ชูมัคเคอร์” รองศาสตราจารย์ สถาบันศึกษาภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียแห่งมหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น กล่าวในงานนานาชาติส่งมอบความรู้ด้าน Green Productivity and the Circular Economy ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งงชาติและองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ถึงการใช้มาตรการทางภาษีตามแผนการปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป ที่ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องปรับตัว โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เศรษฐกิจหมุนเวียน มลพิษ และโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปต้องการผลักดันให้สำเร็จในปี 2050 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำหรับปี 2030 ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
การดำเนินการตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนเพื่อสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปีที่ผ่านมา กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากกองทุนขนาดใหญ่ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และบริษัทประกันชีวิต ได้หันมาลงทุนตามแนวคิดในการลงทุนอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการเลือกลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)
หากแบ่งตามกลุ่มของ SDGs กลุ่มที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มสุขภาพตามมาด้วยกลุ่มพลังงานหมุนเวียน กลุ่มอาหารและการเกษตร กลุ่มน้ำและสุขาภิบาล กลุ่มระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และกลุ่มการศึกษา ตามลำดับ
สาเหตุหลักที่ทำให้มีการลงทุนในกลุ่ม ESG มากขึ้น เนื่องจากมีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าบริษัทที่ดำเนินการโดยคำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มีผลประกอบการที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี มีหลายองค์กรที่ประกาศแผนด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามแผนดังกล่าวหรือมีการซ่อนการดำเนินงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้ภายใน กรณีเหล่านี้เรียกว่า การฟอกเขียว (Greenwashing)
อีกเหตุผลที่เกิดธุรกิจฟอกเขียว คือ ผลการประเมินด้าน ESG ในมิติการประเมินของบริษัทจัดอันดับ (Rating Agency) อาทิ Sustainalytics, RobecoSAM, Assset14, KLD, Vigeo, Median rating, FTSE และ MSCI ที่มีตัวชี้วัด เกณฑ์การประเมิน และกระบวนการตรวจสอบข้อมูลที่แตกต่างกัน ทำให้เมื่อประเมินบริษัทเดียวกันสามารถให้ผลต่างกันได้ เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อาจได้คะแนนประเมิน ESG สูง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่บริษัทจัดอันดับที่ประเมินทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ อาจให้คะแนนน้อยกว่า เมื่อคำนึงถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่นำมาใช้เป็นพลังงาน กระบวนการผลิตแบตเตอรี่ และกระบวนการรีไซเคิล เป็นต้น
นิยามของการฟอกเขียวตาม ISO 14100 หมายถึง การอ้างที่ไม่เป็นจริงหรือเกินจริง สำหรับผลกระทบเชิงบวก การอ้างถึงผลกระทบเชิงลบเพียงบางส่วน หรือการอ้างที่ไม่เป็นจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท ซึ่งอาจรวมถึง หลักฐานของผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ขนาดของผลกระทบเชิงบวกจากการดำเนินกิจกรรมทางธุกิจหรือการเงิน และขนาดของผลกระแทบเชิงลบจากการดำเนินกิจกรรมทางธุกิจหรือการเงิน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ยุโรป (European Securities and Markets Authority: ESMA) ออกกฎระเบียบในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่กำหนดให้บริษัทในตลาดการเงินและที่ปรึกษาทางการเงิน ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนเกี่ยวกับ
ESMA จัดลำดับความสำคัญของแผนงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) โดยเริ่มจากการรับมือกับการฟอกเขียว และส่งเสริมให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ก่อนจะเพิ่มความสามารถให้กับ ESMA และหน่วยงานภายในประเทศ รวมถึงตรวจสอบ ประเมินและวิเคราะห์ตลาดและความเสี่ยงด้าน ESG
นอกจากนี้ ESMA ได้กำหนดกฎเกณฑ์ของกิจกรรมและรายการที่เข้าข่ายการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รายการที่นอกเหนือจากนั้น ไม่สามารถกล่าวอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการประชาสัมพันธ์และรายงานที่เปิดเผยต่อสาธารณชนได้
สำหรับการจะกล่าวอ้างว่า กิจกรรมที่ทำ เป็นกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีลักษณะอย่างน้อย 1 ข้อ ต่อไปนี้
ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะมีการประยุกต์ใช้การเงินเพื่อความยั่งยืนมากขึ้นในภาคการเงิน ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืนเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมเป็นความท้าท้ายที่เร่งด่วน ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
อดีต บริษัทรายงานเฉพาะสาระสำคัญด้านการเงิน (Financial Materiality) เพื่อให้นักลงทุนรับรู้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบกับมูลค่าของส่วนของเจ้าของ
ในปัจจุบัน EU มีข้อบังคับเพิ่มเติมให้รายงานกิจกรรมและการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับสินค้าที่อ้างว่ามีการคำนึงถึง ESG โดยได้กำหนดมาตรฐานการรายงานที่ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความหลากหลายทางชีวภาพ และการปล่อยน้ำเสีย
ความเข้มงวดของการรายงานในแต่ละประเทศมีความต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับกฎระเบียบและข้อบังคับ กรณีที่ออกเป็นข้อบังคับส่วนมากจะมีรายงานที่สมบูรณ์กว่ากรณีสมัครใจ
สำหรับประเทศไทย ได้มีการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 2022 ส่งผลประเทศไทย มีคะแนนด้านความครอบคลุมของเนื้อหาการรายงานความยั่งยืน เทียบเคียงตามกฎระเบียบของ EU สูงกว่าสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,832 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565