นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยในเวทีผู้นำ CAL Forum รุ่นที่ 2 เรื่องการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ว่า กระทรวงทรัพยากรฯ จะพยายามผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ กฎหมาย Climate Change เสนอให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2566 นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
“จริง ๆ แล้วร่างกฎมายฉบับนี้ทำจะเสร็จและเตรียมนำเสนอครม.แล้ว แต่ร่างที่จัดเตรียมมาเสนอนั้นได้กำหนดแค่ภาคสมัครใจ ไม่ได้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปี 2565 เพราะต้องทำออกมาเป็นภาคบังคับแทนการทำแบบภาคสมัครใจ จึงได้นำกฎหมายมาปรับปรุงใหม่ ทั้ง การจัดเก็บ รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกฎระเบียบการจัดการคาร์บอนเครดิต และจะเร่งสรุปและเสนอครม.ให้ทันในรัฐบาลนี้” นายวราวุธ ยืนยัน
ขณะเดียวกันในด้านการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนการทำงานภายในประเทศ ทั้ง การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การค้าและการลงทุน
เช่นเดียวกับการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตให้เกิดขึ้นภายในประเทศอย่างชัดเจนเพื่อเพิ่มช่องทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการสร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนด้วย
นายวราวุธ กล่าวว่า ในด้านหนึ่งที่สำคัญ คือ ด้านการค้าและการลงทุน ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรฯ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจการการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ ด้วย
ส่วนการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ล่าสุดได้จัดทำแนวทางและกลไกในการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต พร้อมกับส่งเสริมตลาดคาร์บอนเครดิตให้เป็นรูปธรรมแล้ว ที่ผ่านมามีการออกหลักเกณฑ์การซื้อ การขึ้นทะเบียน และการขายคาร์บอนเครดิต พร้อมกันนี้ยังมีการจัดทำแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและไฟฟ้าของประเทศไทย (FTIX) ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว