ซีพีเอฟ สู่ Net Zero เดินหน้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100%

26 ม.ค. 2566 | 02:13 น.

ซีพีเอฟประกาศเดินหน้าสู่ Net Zero จัดตั้ง ทีมวิศวกร และศูนย์ความเป็นเลิศฯ พัฒนานวัตกรรม พร้อมเดินแผนผลักดันพาร์ทเนอร์ซัพพลายเชนกว่า 6,500 ราย ร่วมซัพพอร์ตสิ่งแวดล้อม ยกเลิกใช้พลังงานถ่านหิน 100% ในไทย สู่การใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 50% ภายในปี 2573 และ 100% ปี 2593

กลุ่มซีพี ถือเป็นกลุ่มธุรกิจผู้นำที่เดินหน้าเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ ซึ่งล่าสุด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในเครือซีพี ได้ออกมาประกาศแผนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) พร้อมตั้งเป้าชัดเจนที่จะเปลี่ยนการใช้พลังงานสู่การใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 100% ภายในปี 2593
    

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร เปิดเผยว่า ซีพีเอฟพร้อมมีส่วนร่วมสนับสนุนเป้าหมายของโลกในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยซีพีเอฟได้ประกาศเป้าหมายสู่ Net Zero ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โดยได้ยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2565 บรรลุตามเป้าหมาย Coal Free 2022 แต่ยังเหลือโรงงานในประเทศอินเดีย 2 แห่ง ตุรกี 1 แห่ง และฟิลิปปินส์ อีก 1 แห่ง ที่กำลังเร่งดำเนินการ เมื่อแล้วเสร็จก็จะทำให้ซีพีเอฟทั่วโลกยกเลิกการใช้ถ่านหินได้ 100%

พร้อมมีโรดเแมปสู่ Net Zero ที่ยึดตามแนวทางด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Develop ment Goals:SDGs) โดยได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาารับผิดชอบการเดินหน้าตามโรดแมปอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมใช้งบประมาณกว่า 70 ล้านบาท สร้าง “ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรม” (Center of Engineering Excellence) ที่หนองจอก เพื่อทำหน้าที่คิดค้น พัฒนานวัตกรรมที่เข้ามาช่วยเสริมให้การเดินหน้าสู่ Net Zero มีประสิทธอภาพมากที่สุด
    

ซีพีเอฟ สู่ Net Zero เดินหน้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100%

อีกทั้งมอบหมายให้หน่วยงานด้านวิศวกรรมของซีพีเอฟ ช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มซัพพลายเออร์ของซีพีเอฟ ที่มีกว่า 6,500 ราย ให้สามารถเดินหน้าสู่การดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกับซีพีเอฟ โดยทีมวิศวกรจะเข้าไปช่วยคิด พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีและต้นทุนที่เหมาะสม

“ขณะนี้ทีมงานกำลังวางโรดแมปในการดำเนินการเข้าช่วยเหลือเหล่าซัพพลายเออร์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2565 ซีพีเอฟ เริ่มวัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของซีพีเอฟ และบริษัทในเครือทั่วโลกใน 17 ประเทศ โดยใช้ปี พ.ศ. 2563 เป็นปีฐาน ไปถึงปี 2573 จะลดได้เท่าไร และปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) จะทำได้ตามเป้าหมาย Net Zero หรือไม่”
    

นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในปี 2563 ซีพีเอฟ มีการใช้พลังงานอยู่ประมาณ 3,075 GWH ใช้พลังงานทดแทนอยู่ที่ 26% ถึงปี 2565 ใช้อยู่ที่ 3,073 GWH ใช้พลังงานทดแทนอยู่ที่ 30% โดยพลังงานทดแทนที่ใช้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ที่ได้จากการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น กะลามะพร้าว ซังข้าวโพด เศษไม้ มาแปลงสภาพ (waste to value) เป็นพลังงาน ซึ่งในปี 2565 ซีพีเอฟใช้อยู่ที่ 1.45 แสนตัน
    

ขณะที่ปี 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ใช้ถ่านหิน จากปกติที่ต้องใช้ถึงประมาณ 6,000 ตัน เมื่อลดการใช้ถ่านหินและใช้ชีวมวลแทนใน 18 โรงงาน ซีพีเอฟสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ได้ถึง 2.2 หมื่นตัน ซึ่งการใช้ชีวมวล จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 2.5% ของการใช้ถ่านหิน
    

สำหรับสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทนของซีพีเอฟ ปัจจุบันใช้ก๊าซชีวภาพอยู่ที่ 30% ชีวมวล หรือ Biomass 68% และพลังงานแสงอาทิตย์ 2% อย่างไรก็ตาม ในการใช้ก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่ ของซีพีเอฟ 100% ทำให้สามารถ ประหยัดค่าพลังงานได้ถึง 350 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่การเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินมาเป็น Biomass ใช้งบไปประมาณ 120 ล้านบาท
    

ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันโรงงานและฟาร์ม จำนวน 36 แห่ง สามารถผลิต ไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ได้ 20 เมกกะวัตต์ ปัจจุบันซีพีเอฟยังมีสัญญาอยู่ในมือแล้วอีก 2 ฉบับที่จะขยายกำลังผลิตเพิ่มอีกประมาณ 150 แห่ง ทำให้มีพลังงานที่อยู่ในมือแล้วประมาณ 70 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มติดตั้งตั้งแต่ มกราคม 2566 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นปี โดยตั้งเป้าในปี 2568 จะได้ปริมาณการติดตั้งโซลาร์ประมาณ 100 เมกะวัตต์ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)
    

นายประสิทธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีซีพีเอฟใช้งบการลงทุนทั้งหมดราว 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งรวมถึงการลงทุนด้าน Net Zero ด้วย ที่ผ่านมาถือว่าได้ลงทุนเบื้องต้นไปแล้วพอประมาณ หลังจากนี้ ต้นทุนจะลดน้อยลง เพราะเริ่มมีผลตอบแทนกลับมาแล้ว โดยซีพีเอฟยังเดินหน้าศึกษาพัฒนาและหาแนวทางในการเดินสู่ป้าหมาย Net Zero ทั้งการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมเอง และการร่วมมือกับพันธมิตร เช่น โตโยต้า ที่กำลังพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับ Green Hydrogen พลังงานสะอาดแห่งอนาคต ที่โตโยต้ามีความประสงค์จะพัฒนาเข้าสู่ระบบเกษตรกรรม ซีพีเอฟจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาดังกล่าว และพร้อมที่จะนำนวัตกรรมนี้มาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเสริมศักยภาพสู่ Net Zero ต่อไป