เปิดวิธีคำนวณการใช้ไฟบ้านเบื้องต้นก่อนติดโซลาร์เซลล์

01 ก.พ. 2566 | 02:29 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2566 | 02:30 น.

เปิดวิธีคำนวณการใช้ไฟบ้านเบื้องต้นก่อนติดโซลาร์เซลล์ หลังค่าไฟบ้านอยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ติดแล้วคืนทุนกี่ปี ฐานเศรษฐกิจรวบรวมไว้ให้แล้ว

การติดตั้งโซลาร์เซลล์กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพื่อมุ่งหวังในการประหยัดค่าไฟ หลังจากที่ปัจจุบันค่าไฟมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดบ้านอยู่อาศัยต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง

อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก หากปัจจัยที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าแต่ละส่วนไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) คาดการณ์ไว้

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปพบกับวิธีการคำนวณการใช้ไฟฟ้าเบื้องต้น เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบ On Grid เพื่อประกอบการตัดสินใจในการติดตั้ง

ทั้งนี้ หากต้องการรู้ว่าบ้านต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบ On Grid ขนาดเท่าไรนั้น สามารถคำนวณการติดโซล่าเซลล์เบื้องต้นเองได้จากการใช้ไฟในช่วงกลางวัน (8.00-17.00 น.) ด้วย 2 วิธี คือ

การดูหน่วยการใช้ไฟจริงที่มิเตอร์

คำนวณการติด "โซลาร์เซลล์" จากการไปจดหน่วยการใช้ไฟจริง 3-7 วัน เพื่อหาค่าเฉลี่ย
 

หาค่าเฉลี่ยการใช้ไฟช่วงกลางวัน โดยไปจดที่เวลา 8.00 และ 17.00 น. 

  • วันที่ 1 ใช้ไฟไป 25 kWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
  • วันที่ 2 ใช้ไฟไป 20 kWh
  • วันที่ 3 ใช้ไฟไป 20 kWh
  • ตัวอย่างการคำนวณ    25+20+20 หาร 3 วัน  =  21.6 kWh

ใช้แผงโซลาร์เซลล์กำลังผลิตเท่าไร

  • แผงโซลาร์เซลล์ 1 วัน ผลิตไฟคิดเป็นค่าเฉลี่ย 5 ชั่วโมง ดังนั้น 21.6 หาร 5 = 4.32 kW (กิโลวัตต์)

หมายความว่าบ้านควรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ประมาณ  5 kW (5,000 W) (จำนวน kW ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท)

จำนวนแผง

  • โซลาร์เซลล์  1 แผง ผลิตไฟได้ 400-500 W  ใช้ตัวเลขกลางที่ 450 W ดังนั้น 5,000 หาร 450 = 11.1     

หมายความว่าควรติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน  12 แผง  

พื้นที่ติดตั้ง

  • 1 แผง จะมีขนาดประมาณ 1×2 ม. = 2 ตร.ม.           

ดังนั้นใช้พื้นที่ติดตั้งทั้งหมด 12×2 = 24 ตร.ม.

การประหยัดค่าไฟ

  • คิดที่ค่าไฟหน่วยละ 4 บาท  จะลดค่าไฟ วันละ 21.6 x 4 = 86.4 บาท หรือเดือนละ  86.4 x 30 = 2,592 บาท

(คิดจากการใช้ไฟช่วงกลางวันที่ลดลง ไม่ได้คิดจากการผลิตไฟได้สูงสุด เพราะระบบโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าตามที่มีการใช้จริง)

ระยะคืนทุน

  • 1 ปี ลดค่าไฟ 2,592 x 12 =  31,104 บาท
  • กำลังผลิต 5 kW ราคา 2-3 แสนบาท  คิดที่ราคากลางประมาณ 250,000  หาร  31,104  = 8 ปี

คำนวณจากการใช้ไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด

เป็นการหากำลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดในช่วงกลางวัน โดยดูกำลังไฟฟ้าซึ่งมีหน่วยเป็นวัตต์ (W) ที่ฉลากของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด

หาการใช้ไฟในช่วงกลางวัน

สามารถใช้สูตรคำนวณดังนี้ 

การใช้ไฟ =  กำลังไฟฟ้า (วัตต์) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า x จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในช่วงกลางวัน ยกตัวอย่าง 

  • เครื่องปรับอากาศ ขนาด 24000 บีทียู ใช้ไฟ 2,500 วัตต์ x จำนวน 1 เครื่อง x 3 ชั่วโมง = 7,500 วัตต์
  • เครื่องปรับอากาศขนาด 12000 บีทียู ใช้ไฟ 1,000 วัตต์ x จำนวน 1 เครื่อง x 5 ชั่วโมง = 5,000 วัตต์
  • ทีวี ใช้ไฟ 100 วัตต์ x จำนวน 1 เครื่อง x 3 ชั่วโมง = 300 วัตต์
  • ตู้เย็น 14 คิว ใช้ไฟ 200 วัตต์ x จำนวน 1 เครื่อง x 9 ชั่วโมง = 1,800 วัตต์

รวมมีการใช้ไฟ  5,000 + 7,500 + 1,800 + 300 = 14,600 วัตต์ หรือเท่ากัน 14.6 กิโลวัตต์ (kW)

ใช้แผงโซลาร์เซลล์กำลังผลิตเท่าไร

  • แผงโซลาร์เซลล์ 1 วัน ผลิตไฟคิดเป็นค่าเฉลี่ย 5 ชั่วโมง  ดังนั้น  14.6 หาร 5  = 2.92 kW

หมายความว่าควรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ประมาณ  3 kW (จำนวน kW ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท)

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่า ตัวอย่างดังกล่าวนี้เป็นการคำนวณโดยใช้ตัวเลขโดยประมาณ ซึ่งการคำนวณของแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกัน 

และใช้ปัจจัยในการคิดต่างกัน เพราะฉะนั้น จึงควรให้บริษัทผู้ติดตั้งมาประเมินหน้างานจึงจะได้ผลแน่นอนที่สุด

ที่มา : เว็บไซด์บ้านและสวน