WAVE-Spiro Carbon ยกระดับชาวนาทำ "คาร์บอนเครดิต" สร้างรายได้

21 ก.พ. 2566 | 08:37 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2566 | 08:37 น.

WAVE-Spiro Carbon ยกระดับชาวนาทำ "คาร์บอนเครดิต" สร้างรายได้ยั่งยืน รุกส่งเสริมปลูกข้าวแนวใหม่ ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 50% เป็นเจ้าแรกในไทย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE เปิดเผยว่า บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด (WAVE BCG) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ WAVE  ได้ดำเนินการร่วมกับ Spiro Carbon สนับสนุนภาคการเกษตรของประเทศไทยให้เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์ (Carbon neutrality) และมีความอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเริ่มต้นด้วยสนับสนุนชาวนาในการปลูกข้าวที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัท WAVE BCG จะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรกับ Spiro Carbon เพื่อพัฒนาสู่การทำคาร์บอนเครดิต ซึ่ง Spiro Carbon เป็นองค์กรที่ดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาและเกษตรกร โดยศักยภาพของ Wave BCG จะสามารถเป็นจุดเชื่อมสำคัญระหว่างเกษตรกรกับ Spiro Carbon ในการทำการตลาด Carbon Credits ในไทยด้วยเทคโนโลยีที่มี ซึ่งจะเป็นเจ้าแรกของไทยในการทำตลาดคาร์บอนจากการปลูกข้าวให้เป็นจริง  และสร้างรายที่ได้ยั่งยืนให้กับชาวนา

นอกจากนี้ Spiro Carbon ยังได้มอบ ไวท์เลเบล (White Label) ให้กับ WAVE BCG ในการขึ้นทะเบียน Carbon Credits จากการปลูกข้าวแบบ Alternative Wetting and Drying (AWD) ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 50% ถือเป็นความร่วมมือที่ผลักดันให้เกิดแนวทางการเกษตรแบบใหม่ ที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  

WAVE-Spiro Carbon ยกระดับชาวนาทำ "คาร์บอนเครดิต" สร้างรายได้
    
อย่างไรก็ดี WAVE BCG ได้มีการพัฒนาโครงการต้นแบบการปลูกข้าวจำนวน 20 ไร่ ที่จังหวัด ปทุมธานี และมีแผนที่จะขยายถึง 200,000 ไร่ ภายในปีหน้าที่จังหวัดสุโขทัย โดย Spiro Carbon เป็นส่วนช่วยในด้าน MRV หรือ การรายงานผล ในการช่วยเหลือการเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว เพื่อผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์

นายเจมส์  กล่าวอีกว่า การดำเนินการครั้งดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นแนวทางที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางคาร์บอนของประเทศไทยที่ตั้งเป้าในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2065 ยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรกว่า 30 ล้านคน ที่สามารถขาย Carbon Credits ได้ถึง 300 บาทต่อไร่ จากการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับเกษตรได้อย่างยั่งยืน และเป็นก้าวสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมไทยในการก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ และเป็นศูนย์ในที่สุด

การให้ความสำคัญลดการปล่อยปล่อยก๊าซคาร์บอน ในภาคการเกษตรของประเทศไทย เพราะไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก มีเกษตรกรกว่า 30 ล้านคน การผลิตข้าวเป็นส่วนสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG)  ตามข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ (FAO) ในปี 2016 ภาคการผลิตข้าวของประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 54.3 ล้านตัน CO2 หรือเทียบเท่ากับการปล่อยออกมาจากรถยนต์ประมาณ 11 ล้านคัน