นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV เปิดเผยว่า บริษัทฯ กำลังจะซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
อย่างไรก็ดี ปี 66 บริษัทฯ มุ่งมั่นบริหารจัดการด้านต้นทุนอย่างเต็มที่ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ระหว่างรอผลพิจารณาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมรอบสุดท้าย คาดว่าภาครัฐจะประกาศได้ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2566 ซึ่ง CV ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโครงการเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ CV ได้มุ่งเน้นพัฒนาและกระจายการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีจากพลังงานหมุนเวียนหลากหลายประเภท ได้แก่ชีวมวล ขยะ และ ก๊าชชีวภาพ เป็นต้น โดยปัจจุบัน CV มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 23.66 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 14.3 MW ,โรงไฟฟ้าขยะ 2 MW และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 7.36 MW
ส่วนธุรกิจวิศวกรรม ปัจจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 1,984 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้ในปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 60-70% โดยมีแผนเข้าประมูลงานโปรเจคใหม่ๆ จากภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะงานก่อสร้างแบบสำเร็จรูป (Modular) ซึ่งในปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้ของธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับ Backlog ในมือให้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท
และสำหรับธุรกิจเชื้อเพลิง (Fuel Supply) บริษัทฯ ได้เดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ในประเทศเวียดนามมากขึ้น พร้อมวางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมจาก 8,000 ตัน เพิ่มเป็น 12,000 ตันต่อเดือน เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งจะทยอยส่งมอบตั้งแต่ไตรมาส 1/66 เป็นต้นไป
นายเศรษฐศิริ กล่าวอีกว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 65 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,967.21 ล้านบาท เติบโต 13.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 1,735.87 ล้านบาท โดยเป็นผลเติบโตจากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยแบ่งเป็น
ขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในงวดปี 2565 ทำได้ 23.2 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้องหยุดเดินเครื่องการผลิตในโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (SPP) ที่จังหวัดสระบุรีตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565
รวมถึงการหยุดซ่อมบำรุงโรงงไฟฟ้าชีวมวล (CPL) เป็นเวลา 1 เดือน ส่งผลให้กำไรในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจวิศวกรรมที่มีต้นทุนวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อกำไรขั้นต้นของทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจดังกล่าว