บางจากฯ ส่งต่อ"ข้าวลดโลกร้อน" เกษตรสมัยใหม่รับ"วันสิ่งแวดล้อมโลก"

01 มิ.ย. 2566 | 14:02 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2566 | 14:03 น.

บางจากฯ ส่งต่อ"ข้าวลดโลกร้อน" เกษตรสมัยใหม่รับ"วันสิ่งแวดล้อมโลก" จำนวน 40 ตัน ที่รับซื้อจากวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ตำบลเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ลูกค้าปั๊มบางจากที่ร่วมรายการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากได้ดำเนินการนำ "ข้าวลดโลกร้อน” จำนวน 40 ตัน ที่บางจากรับซื้อจากวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ตำบลเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี ผ่านบริษัท ออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัดมาส่งต่อให้กับลูกค้าสถานีบริการบางจากที่ร่วมรายการ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการสอดรับกับวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิ.ย.) และเพื่อเป็นการสร้างช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยคัดสรรผลผลิตจากเกษตรกร และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตโดยกลุ่มชุมชนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค 

สนับสนุนพี่น้องเกษตรกรไทย และสำหรับผลผลิตข้าวลดโลกร้อนในครั้งนี้ยังเป็นการช่วยรณรงค์เรื่องสภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน

สำหรับข้าวลดโลกร้อนนั้น เป็นตัวอย่างที่สะท้อนผลสำเร็จของการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิถีการทำนาแบบใหม่ของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำนาแบบเปียกสลับแห้งในโครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA – Nationally Appropriate Mitigation Action) 

บางจากฯ ส่งต่อข้าวลดโลกร้อนเกษตรสมัยใหม่รับวันสิ่งแวดล้อมโลก

ภายใต้ความร่วมมือหลักระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (GIZ Thailand) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวรูปแบบใหม่ของชาวนา ใช้ 4 เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุน ได้แก่ 

  • การปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ให้เรียบเสมอกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก 
  • การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง 
  • การใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม 
  • การจัดการฟางและตอซังด้วยน้ำหมักแทนการเผา  สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คือ ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ 

จากการวิจัยและติดตามผลของโครงการ ไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) พบว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ประมาณ 30% เทียบกับวิธีทำนาปกติ จึงเรียกว่านาข้าวลดโลกร้อนถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริโภคที่จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกภาคส่วน