กรณีที่มีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า “พายุสุริยะบนดวงอาทิตย์เป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น”ล่าสุด ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า พายุสุริยะไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุณภูมิหรือเกิดอันตรายต่อโลก จะมีผลกระทบเพียงระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบการสื่อสาร จีพีเอส เทคโนโลยีดาวเทียมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับปรากฏการณ์ที่มีผลต่ออุณหภูมิโลกในขณะนี้ เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งในปีนี้ผลจากการวิเคราะห์แบบจำลองและดัชนีทางภูมิอากาศ คาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญจะมีกำลังแรงในช่วงปลายฤดูฝนปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปี 2567 ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าปกติ ประมาณ 0.5 -1 องศาเซลเซียส และส่งผลให้มีอากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกับกับปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเอลนีโญระดับรุนแรง สำหรับปริมาณฝนรวมของประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 10
ส่วนกรณีกระแสข่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ลานีญา ที่มีการเผยแพร่ออกมาว่า “มวลน้ำร้อนใหญ่ผิดปกติ เอลนีโญ เคลื่อนที่จ่อปากอ่าวไทยแล้ว ชี้น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก” นั้น
ดร. ชมภารี ระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และการคาดการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่า บริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในเดือน (11 มิ.ย.-8 ก.ค. 2566) ที่ผ่านมาสูงกว่าปกติมากขึ้นทั่วทั้งบริเวณ และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.7-3.3 องศาเซลเซียส โดยค่า Oceanic Nino Index (ONI) ที่คำนวณจากพื้นที่บริเวณที่เรียกว่า Nino 3.4 region เท่ากับ 1.0 องศาเซลเซียส ในส่วนของอ่าวไทยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนนั้น ปัจจัยที่สำคัญคืออุณหภูมิผิวน้ำทะเลต้องเหมาะสม คือประมาณ 26-28 องศาเซลเซียส กล่าวคือถ้าเย็นหรือถ้าร้อนมากไปก็มีการก่อตัวของพายุก็มีโอกาสน้อยลง และจากข้อมูลของ The International Research Institute for Climate and Society, Columbia University Climate School (IRI) ระบุว่า
ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งการก่อตัวของพายุที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากขึ้น โดยไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนพายุที่แน่ชัด ซึ่งตรงกันข้ามช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญาซึ่งพายุก่อตัวใกล้เส้นศูนย์สูตรและประเทศไทยมากกว่า เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2554 ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนมากถึง 5 ลูก
โดยปกติจำนวนค่าเฉลี่ยพายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้จะน้อยกว่า 1 ลูกต่อปี และมีโอกาสเกิดพายุได้ทั้งในช่วงปีที่มีสภาพอากาศปกติ ปีที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญและลานีญา อย่างเช่น ปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญระดับรุนแรง พายุโซนร้อน “ลินดา” เคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ตอนบนในวันที่ 3-5 พฤศจิกายน และสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเทคโนโลยีการติดตามและการพยากรณ์พยากรณ์อากาศที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถเฝ้าระวังและคาดการณ์ผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนได้ล่วงหน้า 7-10 วัน ซึ่งทำให้การแจ้งเตือนประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที
ส่วนอีกกระแสข่าว ที่มีการเผยแพร่ข่าวคาดการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญปี 2566 จะมีกำลังแรงต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้วิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์ภูมิอากาศชั้นนำของโลกและข้อมูลปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) พบว่า
บริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกนี้มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงที่อบอุ่น (Warm phase) และเย็น (Cold Phase) เป็นประจำ โดยปกติจะมีการเปลี่ยนเฟสทุก ๆ 1-3 ปี ระยะ ENSO ที่เย็นเรียกว่าลานีญา และระยะที่อุ่นเรียกว่าเอลนีโญ ในช่วงปีที่ผ่านมา มีเพียง 3 ครั้ง ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดต่อเนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่ยาวนานกว่าปกติ (1973 -1976, 1998-2001 และ 2020-2023) และยังไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรงต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี โดยส่วนใหญ่ในปีแรกที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญจะมีกำลังและอ่อนกำลังลงในปีต่อมา